กรมเจรจาฯหารือจีน ดันขยายการค้า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

09 ส.ค. 2563 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2563 | 09:50 น.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือกรมเอเชียฝ่ายจีน ยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ส่งเสริมการค้าผ่านออนไลน์ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนใน EEC และนิคมอุตสาหกรรมระยอง ย้ำขยายการค้าสองฝ่ายให้ได้ตามเป้า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ได้หารือกับนายเผิง กัง อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบทางไกล เรื่องการขยายการค้าระหว่างกันที่ 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) ของจีน กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน กับ EEC ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีระหว่างไทย-จีน-ญี่ปุ่น พร้อมชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนใน EEC และนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ที่ปัจจุบันมีนักลงทุนจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก

กรมเจรจาฯหารือจีน ดันขยายการค้า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ได้มีการเจรจาขอให้ฝ่ายจีนเร่งรัดการดำเนินการภายใต้ MoU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะการซื้อข้าวภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ให้ครบ 1 ล้านตัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะผลไม้ที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยในช่วงโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา จีนได้เปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยที่ด่านตงซิง เมืองฝ่างเฉิงก่าง และด่านรถไฟผิงเสียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพิ่มเติมจากด่านบ่อหานในมณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กวาน ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งฝ่ายไทยยังขอให้จีนพิจารณาเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ย ในมณฑลยูนนาน และด่านหลงปัง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนด้วย ซึ่งฝ่ายจีนขอตรวจสอบเรื่องความพร้อมของด่านก่อน  

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทุกด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางปกติ ซึ่งจีนได้เชิญชวนให้ไทยนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2563 ณ นครเซี่ยงไฮ้ และงานแสดงสินค้าจีน – อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2563 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

กรมเจรจาฯหารือจีน ดันขยายการค้า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

จีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย โดยในปี 2562 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 79,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2563) การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 38,492 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.8%  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการใช้ประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และไทยนำเข้าสินค้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น