“เพลี้ยจักจั่น” อันตรายที่ไม่อาจมองข้าม

10 ส.ค. 2563 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 12:20 น.

โลกออนไลน์แห่แชร์เรื่องราวหนุ่มเล่าประสบการณ์หลังถูกเพลี้ยจักจั่นกัดตามลำตัวจนมีอาการบวมและเกิดผื่นแดง

เมื่อเร็วๆ นี้  มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Kabadttong Smile” โพสต์ภาพเตือนภัย หลังถูก เพลี้ยจักจั่น กัดเข้าตามลำตัว จนมีอาการบวมและเกิดผื่นแดง โดยผู้โพสต์เล่าว่า “เตือนภัยใกล้ตัว เพลี้ยจักจั่น แมลงตัวนี้จะมาตามไฟกลางคืน ล่าสุด เมื่อคืนตอนทำงานอยู่โดนกัดเยอะมากมันก็ร่วงมาตามไฟ เราก็ไม่ได้คิดอะไรก็แค่ปัดๆ ออก ซักพักอาการเริ่มคัน ตื่นขึ้นมาก็แดงจุดๆ และก็คัน เราก็เกาตลอด มันคันมาก ล่าสุด ผ่านมา 5-6 ชั่วโมง แดงและบวม ล่าสุด หมอก็ให้ยาแก้แพ้กับฉีดยา รอดูอาการ แต่กว่ารอยจะหาย พิมพ์ไปน้ำตาจะไหล คงใส่ขาสั้นแขนสั้นไม่ได้อีกนาน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เข้ม เฝ้าระวัง “กาฬโรคม้า” ช่วงฤดูฝน

“CPTPP” เปิดคำชี้แจง 6 หน่วยงาน ก.เกษตรฯ

ควัก 435 ล้านแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสัตว์ป่า

ญี่ปุ่นพบสัตว์เลี้ยงติดเชื้อ "โควิด" ครั้งแรกของประเทศ

เพลี้ยจักจั่น คือ อะไรมาทำความรู้จักได้จากบรรทัดถัดจากนี้

เมื่อคลิกดูข้อมูล เพลี้ยจักจั่น ในเว็บไซต์ www.rakbankerd.com  ได้อธิบายรายละเอียดของ เพลี้ยจักจั่น ว่า เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus (Stal) ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิดมีสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ขนาดลำตัวยาวไม่แตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ N. nigropictus (Stal) มีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ N. virescens (Distant) ไม่มี ตัวเต็มวัยไม่มีชนิดปีกสั้น เคลื่อนย้ายรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ชอบบินมาเล่นไฟตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว วางไข่เป็นกลุ่ม 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ๆมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้ม (yellow orange leaf virus) มาสู่ข้าว ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ เมล็ดลีบ โดยปรกติอาศัยอยู่ส่วนบนของต้นข้าวในตอนเข้า และย้ายลงมาด้านล่างของต้นข้าวในตอนบ่าย ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยทั่วไปจึงไม่พบจำนวนประชากรมากถึงระดับทำให้ข้าวแห้งตายได้ ฤดูกาลปลูกข้าวครั้งหนึ่งเพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3-4 ชั่วอายุ ตัวเต็มวัยสามารถดักจับได้จากกับดักแสงไฟ มักพบระบาดในฤดูฝนที่สภาพต้นข้าวเจริญดีเหมาะต่อการขยายพันธุ์

ศัตรูของข้าว พบในข้าวนาปีมากกว่านาปรัง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้มมาสู่ข้าว

พืชอาหาร

ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าไซ ข้าวป่า

การป้องกันกำจัด

1) ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลายเมื่อมีการระบาดรุนแรง

2) ปลูกข้าวพร้อม ๆ กัน และปล่อยพื้นนาว่างไว้ระยะหนึ่ง เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลง

3) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 พวงไร่

4) ใช้สารฆ่าแมลงตามคำแนะนำในตารางที่ 2 เมื่อมีการระบาดของโรคใบสีส้ม

ที่มา: รักบ้านเกิดดอทคอม