ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ปี 2562 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ขอรับการส่งเสริมรวม 991โครงการ เงินลงทุน 506,230 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 876 โครงการ เงินลงทุน 281,873 ล้านบาท ขณะช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 มี FDI ขอรับการส่งเสริมฯ 459 โครงการ เงินลงทุน 75,902 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่บีโอไอต้องเร่งปรับแผนเพื่อดึงการลงทุน ในอีก 5 เดือนที่เหลือของปีนี้
ลุ้นFDIทะลักหลังโควิด
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สาเหตุหลักที่มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
FDI ลดน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้การเดินทางข้ามประเทศเพื่อติดต่อธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก นักลงทุนต่างชาติที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและ
ได้ศึกษาลู่ทางและเตรียมแผนการลงทุนไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด หรือเป็นกรณีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิม หรือเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับฝ่ายไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เวียดนาม”เนื้อหอม ต่างชาติแห่ลงทุนหลังโควิด-19
ข้อตกลง FTA อียู-เวียดนาม มีผลแล้ว ส่งออกไทยหืดจับแน่
"เวียดนาม" ยอดใช้เหล็กพุ่ง สูงสุดในอาเซียน 4 ปีซ้อน
ทั้งนี้การขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนนักลงทุนรายใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาด
ใหญ่หลายรายยังติดอุปสรรคเรื่องการเดินทาง เพราะผู้บริหารจำเป็นต้องเข้ามาดูสถานที่ตั้งกิจการ เจรจากับหุ้นส่วนและลูกค้าก่อนตัดสินใจลงทุน ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นเชื่อมั่นว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยอีกมาก รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนและฮ่องกง
เร่งเจาะ 4 ตลาดใหญ่
“เนื่องจากสถานการณ์ในปีนี้มีความไม่แน่นอนสูง ทางสำนักงานฯจึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเหมือนทุกปี แต่จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ มีตัวแปรสำคัญคือสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ลงทุนหลักซึ่งปัจจุบันสัดส่วนมาก กว่า 80% ของเม็ดเงินเอฟดีไอที่มาไทยจะมาจากประเทศในเอเชียทั้งหมด มีนักลงทุนรายสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอินเดีย”
สำหรับกิจกรรมสัมมนาและชักจูงการลงทุนของบีโอไอทั้งหมดกว่า 80 ครั้งในปีนี้ได้ปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งได้จัดไปบ้างแล้ว ที่กำลังจะจัดเร็ว ๆ นี้ เช่น ในวันที่ 25 สิงหาคม จะจัดงาน Webinar(สัมมนาออนไลน์) สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมกับ JETRO คาดจะมีผู้ฟัง 500 คน ถัดมาในวันที่ 15 กันยายน จะจัด Webinar ครั้งใหญ่สำหรับนักลงทุนในประเทศจีนและฮ่องกง ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 คน และในเดือนพฤศจิกายนจะจัด Webinar ใหญ่สำหรับนักลงทุนเกาหลี ร่วมกับ KOTRA และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (KCCI) ตั้งเป้าไว้มากกว่า 300 คน
นอกจากนี้บีโอไอยังได้เปิดตัวแคมเปญประชาสัมพันธ์ใหม่ในชื่อว่า “Think Resilience, Think Thailand” ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อสื่อสาร และตอกยํ้าว่าไทยเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมกับการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุดของภูมิภาค ขณะนี้ได้ทยอยผลิตสื่อภายใต้ธีมนี้ ทั้งคลิปวิดีโอ บทความ โรลอัพ และสื่อโฆษณา เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ตามสื่อชั้นนำ เช่น CNN, Bloomberg, The Economist และสื่อหลักในประเทศเป้าหมาย เช่น Nikkei ของญี่ปุ่น Maeil ของเกาหลี Economic Daily News ของไต้หวัน และ Handelsblatt ของเยอรมนี เป็นต้น
จี้เร่งอีอีซีแข่งเวียดนาม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ในเอเชียเวลานี้นักลงทุนมองมาที่ไทยและเวียดนาม แต่การดึงการทุน FDI ของไทยเสียเปรียบเวียดนามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเวียดนามมีแต้มต่อมากกว่าทั้งมีความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)แล้วกับ 53 ประเทศ(ไทยมีกับ18ประเทศ) แรงงานเวียดนามมีมากกว่าและค่าจ้างตํ่ากว่าไทย มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ให้ทำธุรกิจได้ง่าย การเมืองนิ่ง ทำให้ทุน FDI เข้าไปลงทุนในเวียดนามช่วง 5 เดือนแรกปีนี้กว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจ(จีดีพี)เวียดนามปีนี้ขยายตัวได้ 4.5 ถึง 5% และส่งออกขยายตัวได้ 5%(จากปี 2562 ส่งออก 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
“จุดขายเพื่อดึงการลงทุนของไทยเวลานี้มีเพียงอีอีซี ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งผลักดันต่อและกล้าใส่เงินลงไปในเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือนํ้าลึก และอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าเกิดแน่ รวมถึงต้องทำการเมืองให้นิ่ง เพราะเท่าที่คุยกับนักลงทุนต่างชาติเขาห่วงเรื่องนี้มาก
เตือนระวังทุนจีนทำป่วน
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมาถึงปีนี้มีนักลงทุนจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯมาลงทุนไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานส่งออกไปสหรัฐฯถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องระวังอนาคตจะส่งผลให้ตัวเลขหลายสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯอาจเพิ่มมากขึ้นผิดสังเกต จากสินค้าจีนที่มาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก และขายราคาถูก รวมถึงสินค้าจีนอาจมาใช้เทคนิค transshipment (นำสินค้ามาพักที่ไทยแล้วเปลี่ยนกล่อง เปลี่ยนฉลาก และทำเอกสารใหม่ว่าเป็นสินค้าจากไทย)ส่งออกไปสหรัฐฯเพื่อเลี่ยงภาษีสูง จากสินค้าจีนถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีจากสงครามการค้า อาจทำให้สินค้าส่งออกจากไทยถูกสหรัฐฯเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AD / CVD)ได้ ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วในสินค้ายางรถยนต์ที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับไทย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563