นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV) ปีนี้ นั้น สนพ. โดยกระทรวงพลังงานจะมีการสนับสนุนผู้ประกอบการเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นนรูปแบบของแนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวีแมพปิ้ง (EV Mapping) ทุกระยะทาง 40-50 กิโลเมตรในชุมชน โดยเฉพาะระยะทางระหว่างเมือง ซึ่งแหล่งเงินที่จะนำมาสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอาจจะมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานรถ อีวี ได้
“อย่างน้อยหากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมก็น่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการ ทำให้ผู้ใช้รถมีความสนใจที่จะรถ อีวี ได้เพิ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าการกำหนดในการส่งเสริมต้องมีความชัดเจน เหมือนในต่างประเทศว่าจะเดินไปทางไหนอย่างไร โดยต้องเข้าใจว่าการสนับสนุนอีวีมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย แต่ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ก็คงต้องมีมาตรการออกมา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน โดยต้องเรียนว่าในอดีตตั้งแต่ปี 59 ซึ่ง สนพ. และกระทรวงพลังงานมีการส่งเสริมหัวชาร์ตประมาณ 100 กว่าหัวชาร์ต โดยเป็นหัวชาร์ตแบบเร็ว หรือฟาสชาร์ต (Fast Charge) ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนหัวละ 1 แสนบาท และหัวชาร์ตแบบธรรมดา หรือนอร์มอลชาร์ต (Normal Charge) โดยจะให้การสนับสนุนหัวละ 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการได้จริงประมาณ 80 หัวจ่ายจากหน่วยงานราชการ ภาครัฐ และภาคเอกชน
“สิ่งที่เห็นวันนี้คือมีการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาสำคัญก็คือไม่มีรถ ดังนั้น ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาตรการการส่งเสริมต่างๆ โดยตนมองว่าส่วนหนึ่งมาจากการชาร์ตที่ใช้เวลานาน และเรื่องของจุดชาร์ต นอกจากนี้ การให้สิทธิประโยชน์ หรือการลงทุนจะต้องเน้นที่ผู้ประกอบการเป็นสำคัญ โดยจะต้องดูว่าเมื่อทำออกมาแล้วจะสะท้อนเรื่องของราคาอย่างไร เพราะราคาก็เป็นสว่วนจูงใจที่ทำให้เกิดการใช้งาน”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ปี 62 ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย โดยมีมูลค่าการส่งออก 1.09 ล้านล้านบาท (6.4% ของมูลค่าจีดีพีประเทศ) โดยทั่วโลกมีมียอดขายรถ EV ประมาณ 2.1 ล้านคัน โดยคาดการณ์ว่าปี 63 จะมีปริมาณรถอีวีทั่วโลกประมาณ 7.9 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าปี 73 จะมียอดขาย 28 ล้านคัน ซึ่งจะมีจำนวนรถอีวีสะสมประมาณ 379 ล้านคัน
นายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงานท กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ 19 แห่ง โดยเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยายนต์ 2,200 แห่ง สามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด 8.5 แสนราย ซึ่งหากแผนพัฒนาพัฒนา อีวี ล่าช้าจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในหลายเรื่องให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตอีวี เช่น เวียดนาม ,มาเลย์เซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
“หากไทยไม่รีบผลักดันก็จะทำให้ไทยเสียรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ หรือทำให้มีโรงงานต้องปิดกิจการ ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วน และทำให้ไทยต้องนำเข้ารถอีวีมูลค่าหลายแสนล้านบาท อีกทั้งยังจะทำให้เกิดปัญหา PM2.5 ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังการท่องเที่ยวอีกด้วย”
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) กล่าวว่า ปัจจุบันบีโอไอให้อนุมัติคำขอส่งเสริมลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 21 โครงการ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 5 โครงการ เงินลงทุน 50,366 ล้านบาท กำลังการผลิต 352,500 คัน/ปี รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด(PHEV) เงินลงทุน 11,443 ล้านบาท กำลังการผลิต 87,240 คัน/ปี รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่(BEV) 13 โครงการ เงินลงทุน 125,140 คัน/ปี และรถบัสอีวี 2 โครงการ เงินลงทุน 665 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,600 คัน/ปี
ส่วนโครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ รวม 14 โครงการ เงินลงทุน 10,834 ล้านบาท เช่น การผลิตแบตเตอรี่ 10 โครงการ เงินลงทุน 6,780 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2 โครงการ เงินลงทุน 1,155 ล้านบาท
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ในขณะนี้ คือ ดีมานด์การใช้ในประเทศยังมีไม่มากพอ ดังนั้นควรมีการกระตุ้นดีมานด์จากหน่วยงานภาครัฐก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจของผู้ประกอบการในลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยนำร่องในการปรับเปลี่ยนใช้รถราชการเป็นอีวี รถสาธารณะอีวี เพื่อให้เกิดปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นขยายไปสู่จักรยานยนต์รับจ้าง และรถแท็กซี่ต่อไป