เพจเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้โพสต์ถึง คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการทบทวนประกาศว่าด้วยเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกการใช้สารทั้ง 2 ชนิด โดยได้มีการยกร่างและรับฟังความคิดเห็น โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ให้ความคิดเห็นทั้งทางเอกสารและในการหารือกับอย.มาโดยตลอดว่าเมื่อแบนสารทั้ง 2 ชนิดแล้วจะต้องไม่พบการตกค้างในอาหาร ตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการอาหาร ได้พิจารณาและมีข้อสรุป ดังนี้
1. เพิ่มรายชื่อของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในบัญชีหมายเลข 1 (รายการสารที่แบนแล้ว) ของประกาศกระทรวง เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง
2. ยกเลิกค่าการตกค้างที่อนุญาตให้พบในอาหาร(Maximum Residue Limit-MRL) โดยต้องตรวจไม่พบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายที่ยกเลิกแล้ว (Not Detected)
3. มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 กับอาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ ค่า Limit of Detection (LOD) คือค่าความสามารถในการตรวจวัดการตกค้างของสาร ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องและวิธีการตรวจวัด โดยประเทศต่างๆใช้เป็นเกณฑ์ในการ ปฏิเสธสินค้าที่ห้ามใช้
สำหรับมาตรฐานใหม่ ของ อย ได้แก่ กลุ่ม “ผักผลไม้สด” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.01-2 mg./kg.)
กลุ่ม “เนื้อสัตว์ นม ไข่” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.005-1 mg./kg.)
กลุ่ม “ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 mg./kg. คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.03-6.00 mg./kg.)
ขณะที่ นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นความเลวร้ายที่หน่วยงานรัฐสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยไม่สนใจว่ากลุ่มเกษตรกรจะด่าว่าอย่างไร รวมหัวกันแก้ค่าmrl จากมีค่าตกค้าง0%ให้มีสารตกค้างมากขึ้น เพื่อให้นำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี พร้อมทั้งผักผลไม้ จากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และมีสารตกค้างให้นำเข้ามาในประเทศไทยได้ ที่แบนเพราะอ้างความปลอดภัยของผู้บริโภค
“แต่มาวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่สนใจว่าผู้บริโภคจะรับประทานสารเคมีจากต่างประทศเข้าไปหรือไม่ ไหนว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตอนนี้ไม่กลัวผู้บริโภค เป็นโรคตายหรือแล้วที่ทำไปเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง หรือไม่”
สอดคล้องกับดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมถึงผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 แต่ในช่วงนี้ให้คงค่าสารตกค้างได้ตามค่าโดเดกซ์ แต่ก่อนแบนสารเคมีบอกไม่ได้ แม้ว่าจะตกค้างนิดหน่อยก็อันตราย แต่ทำไมถึงปล่อยให้ตกค้างแล้วก่อนหน้านี้หลอกคนทั้งประเทศเลยใช่ไหมที่บอกว่าอันตราย
การผ่อนปรนอย่างนี้ไม่ยุติธรรม เพราะเปรียบเทียบ เกษตรกรภายในวันที่ 29 ส.ค. เหลืออีกเพียง 8 วัน ที่จะต้องส่งคืน แล้วถ้าไม่ส่งคืน สารวัตรเกษตร หากไปตรวจค้นก็เจอโทษร้ายแรงกว่ายาเสพติดอีก ยุติธรรมหรือไม่ และที่สำคัญทางสมาคมเรียกร้องให้ทบทวนการแบนพาราควอตใหม่เนื่องจากพบข้อมูลใหม่ ที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องมาใช้ในการแบน จึงทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นจึงอยากให้ทบทวนใหม่ถึงข้อมูลหลักทางวิชาการที่นักวิจัยใช้ประกอบข้อมูลในการแบน ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง