ก่อสร้างคืบหน้าไป เกือบ 100 % สำหรับ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ ) บางปะอิน-นครราชสีมา แต่ปรากฎว่า เส้นทางบางช่วงบางตอน ต้องรื้อปรับแก้ใหม่ เนื่องจาก รุกล้ำอยู่ในเขตป่าสงวน ส่งผลให้ การ เปิดใช้เส้นทาง ต้องล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายดำเนินงานกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) 93.28 % ขณะนี้พบว่า บางช่วงต้องปรับแบบใหม่กว่า 10 สัญญา เนื่องจากติดปัญหาแนวเส้นทางผ่านป่าสงวน ในเขตท้องที่จังหวัดนครราชสีมา หลังผู้รับเหมาเข้าพื้นที่สำรวจ เช่น สัญญาที่ 11 อยู่ในบริเวณป่าเขา ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากถนนบนพื้นราบ ปรับเปลี่ยนเป็นสะพานยกระดับแทน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสภาพพื้นที่บางเส้นทางบริเวณทางเท้าได้มีการวางแผนแล้ว แต่กลับพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นหินทั้งหมด จำเป็นต้องระเบิดหินแทน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบ รวมทั้งแนวเส้นทางเวนคืนที่ดิน ที่มีการดำเนินการไว้ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเวนคืนได้
“หลังจากผู้รับเหมาเข้าพื้นที่พบว่าแนวเส้นทางเวนคืนที่ดินนั้นไม่เหมาะสมในการถมดินเพราะไม่คุ้มค่าทำให้มีการปรับแบบเป็นสะพานยกระดับ”
สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา แบ่งเป็นวงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 6,630 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2559-2565 ปัจจุบันสัญญารวมก่อสร้าง จำนวน 40 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 17 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแบบกว่า 10 สัญญา และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ราว 13 สัญญา
“การปรับแบบกว่า 10 สัญญา นั้น ทำให้เราต้องของบประมาณเพิ่ม โดยจะใช้งบประมาณเผื่อเหลือเผื่อขาด เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ประมูลงานต่ำกว่าราคากลาง ราว 50,000 ล้านบาท ทำให้เรามีงบประมาณไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ ราว 10,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินงบประมาณที่ขอเพิ่มจำนวนเท่าไรนั้น ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับแบบและศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงร่วมกับนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง”
นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า ต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง เพื่อให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สามารถรับช่วงดำเนินการต่อได้ ขณะเดียวกันนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำชับอีกว่า ถ้าความผิดพลาดเกิดจากผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบในส่วนนั้น หากกรณีเป็นเหตุสุดวิสัย เกิดจากผู้รับจ้าง เช่น พื้นที่บริเวณที่ผ่านป่าสงวนเปลี่ยนมีความจำเป็นต้องปรับแก้ไขแบบ ก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภายในเดือน ก.ย.นี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันด้านงานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 17 สัญญา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ระบบโอแอนด์เอ็มไปดำเนินการต่อ ส่วนสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ราว 13 สัญญา สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับแบบเพิ่มเติม ขณะที่สัญญาที่ถูกปรับแบบกว่า 10 กว่าสัญญา เข้าขั้นวิกฤตจำเป็นต้องปรับแบบเพื่อดำเนินการได้ทันก่อนเปิดให้บริการภายในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้จะมีสัญญาฉบับใดบ้างที่ถูกปรับแบบ เบื้องต้นขอดูรายละเอียดข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ส่วนผู้รับเหมาขอขยายระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างถึงปลายปี 2565 นั้น เชื่อว่าจะไม่เกินกรอบระยะเวลาที่เปิดภายในปี 2566 แน่นอน เพราะช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างเราจะดำเนินการคู่ขนานกับสัญญาที่ระบุไว้ หากสัญญาฉบับใดที่จะกระทบต่อการเปิดให้บริการ จำเป็นต้องปรับแผนทุกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันยอมรับว่าการปรับแผนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาในครั้งนี้ บางสัญญาทำให้ล่าช้ากว่าแผนก่อสร้างที่ต้องดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 แต่ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประเมินค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม ราว 6,818.28 ล้านบาท ขณะเดียวกันวงเงินที่เพิ่มขึ้นไม่กระทบต่อกรอบวงเงินมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ อยู่ที่ 71,825 ล้านบาท เนื่องจากทล.สามารถประหยัดงบค่าก่อสร้างจากการประมูลทั้ง 40 สัญญา กว่า 10,000 ล้านบาท