"กรมทางหลวง" เริ่ม ติดตั้ง คานสะพาน บนถนนพระราม 2 หลังก่อสร้างล่าช้า รอมานานกว่า 50ปี จนถูกขนานนามว่าเป็น”ถนนเจ็ดชั่วโคตร” จากประชาชนผู้สัญจรและอยู่อาศัย จากความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง เกิดการร้องเรียนและถึงขั้น ย้ายที่อยู่อาศัยขายบ้านหนี จากผลกระทบฝุ่นพิษ คุณภาพชีวิตลดลงต้อง ใช้เวลาเดินทางนาน หลายชั่วโมง สูญความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง
กระทั่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้เร่งแก้ไขด่วน สำหรับ โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง 2,300 ล้านบาท การปรับปรุงถนนพระราม 2 กม.16 ข้อต่อสำคัญในการรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้
ล่าสุด กรมทางหลวง โดย สำนักก่อสร้างสะพาน ระบุว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งคานสะพานในโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถพร้อมทางขนาน บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ที่บริเวณ กม.34 จึงมีความจำเป็นต้องเบี่ยงการจราจรฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ในช่องทางหลัก ออกทางคู่ขนาน ที่ กม.34 ด้านขวาทาง และจากช่องทางขนานเข้าช่องทางหลัก ที่ กม.33 ด้านขวาทาง ในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 20.00 น. - เวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 สิงหาคม 2563
ในระหว่างดำเนินการอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนทั่วไป กรมทางหลวง ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอให้ประชาชนใช้เส้นทางอย่างระมัดระวัง หากมีความจำเป็นต้องเดินทางโปรดระมัดระวังและเผื่อระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้ทางปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำทางเลี่ยง และสัญญาณจราจรที่ติดตั้งไว้ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้ทาง
แหล่งข่าวกรมทางหลวงกล่าวเสริมว่า สำหรับ ความเป็นมาของถนนเจ็ดชั่วโคตร ถนนพระราม 2 หรือทางหลวงหมายเลข 35 เป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ภาคใต้ มีปริมาณรถกว่า 150,000 คันต่อวัน และแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางตรง ร่นระยะเวลาการจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งพระนคร ได้ มากกว่า ทางหลวงหมายเลข 4 หรือ ถนนเพชรเกษม ที่มีข้อด้อย เป็นถนนสายเก่า เขตทางเล็กแคบ อีกทั้งยังต้องเดินทางอ้อมเมืองที่ยาวกว่า แถมมีปริมาณรถคับคั่ง ส่งผลให้ การใช้รถ จึงมุ่งสู่ถนนพระราม2ค่อนข้างสูง เมื่อ คนเริ่มหันมาใช้เส้นทางบนถนนพระราม2 มากกว่า เส้นทางของถนนเพชรเกษม ส่งผลให้การจราจรติดขัด จำเป็นต้องขยายเส้นทางพิเศษเพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ลดระยะเวลาการจราจรที่ติดขัด ลดระยะเวลาและเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง
ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง
“ศักดิ์สยาม” เตรียมสแกนความพร้อม ถ.พระราม2 ลุยสร้างทางยกระดับ
แต่การก่อสร้างมักมีอุปสรรค บาง คนในพื้นที่บอกว่า เป็นอาถรรพ์ ศาลเจ้าแม่งูจงอาง ขณะ คนอีกกลุ่มบอกว่า เป็นความบกพร่องของผู้รับเหมา ข้าราชการ ของกรมทางหลวง ที่ ผู้รับเหมา ตัดราคา จนไม่สามารถทำงานได้และเปลี่ยนผู้รับเหมารายใหม่ มาทำงานหลายราย กระทั่ง การก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเส้นนี้ยาวนาน กว่า50ปีจนถูกขนานนามว่าถนนเจ็ดชั่วโคตรดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ในภาพรวม สูญเสียพลังงานอย่างมหาศาลจากปัญหารถติด
ถนนเจ็ดชั่วโคตร ถนนพระราม2 เริ่ม ต้นก่อสร้าง ครั้งที่แรก เมื่อปี 2513-2516 มีการก่อสร้างถนน 2 เลน สวนทางกัน ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางมากกกว่า ถนนเพชรเกษม เส้นทางหลักสู่ภาคใต้เดิม ได้มากถึง 40 กม.ครั้งที่ 2 ปี 2532 – 2537 มีการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว ต่อมา ครั้งที่ 3 ปี 2539 – 2543 ถือเป็นงานก่อสร้างครั้งใหญ่ ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน แบ่งออกเป็นทางหลัก 8 เลน และทางขนานข้างละ 3 เลนครั้งที่ 4 ปี 2544 – 2546 ขยายช่องจราจรจาก 4 เลน เป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน–นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาวรวมประมาณ 22 กม. เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการก่อสร้างช่วงดาวคะนอง และถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก จากบางบัวทอง-บางขุนเทียน ตอน 1, 2 และ 3 ให้สอดคล้องต่อเนื่องกันตลอดสาย
ขณะ ครั้งที่ 5 ก่อสร้างระหว่างปี 2549 – 2552 เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาล จึงมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จากเดิม 4 เลน เป็น 6–8 เลนครั้งที่ 6 ปี 2561 – 2563 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 ช่องจราจร หรือ 14 เลน
นอกจากนี้ ยังมี โครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่คาบเกี่ยวกับถนนเส้นนี้อีกหลายโครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างขณะนี้ เช่น ทางยกระดับบางขุนเทียน –มหาชัย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 - ปี 2565
ทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง –วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 ไปจนถึงปี 2566 และในอนาคตจะมีการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 (นครปฐม-ปากท่อ/ปากท่อ-ชะอำ) ซึ่งยังไม่นับรวมงานซ่อมแซมพื้นผิว ก่อสร้างสะพานกลับรถ