การประชุมรับฟังความคิดเห็น รถไฟฟ้ารางเบา ภูเก็ต หรือ โครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้ ข้อยุติ ประชาชน ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วย และต่างผลักดันให้ รถไฟฟ้าเส้นนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเมือง กระจายความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ตลอดแนวเส้นทาง เชื่อมโยงการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ร่นระยะเวลาเดินทางจากแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนใหญ่ เข้าสู่สนามบินนานาชาติ ลัดฟ้าเข้าสู่เมืองหลวง ย่านธุรกิจสำคัญได้อย่างรวดเร็ว
ขณะ เดียวกันยัง แก้ปัญหาความแออัดในพื้นที่ เมืองภูเก็ต ลดการใช้รถยนต์ ลดพลังงาน ลดปัญหามลพิษ และหันไปใช้ระบบรางขนคนคราวละมากๆ วิ่งสู่เป้าหมายได้โดยเร็วทดแทน เช่นเดียวกับอีกหลายหัวเมืองเศรษฐกิจ ที่ต้องมี โครงข่ายระบบราง เชื่อมโยง ไม่ต่างจากมหานครเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ฯ ที่คนนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หัวเมืองภูเก็ต ประเมินว่า อีกไม่เกิน 2ปี จะเริ่ม ดำเนินการ ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ร่วมทุน ปี2562 เนื่องจาก นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ได้ร่วมกันเป็นประธาน จัดประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ ตัวแทนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้สนใจในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไป ใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการ โดยรูปแบบของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตนั้น ถูกออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น - เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ก่อน โดยมีกรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้นประมาณ 35,201 ล้านบาท โดยได้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดประมาณ 35 – 140 บาทต่อเที่ยว ซึ่งจาก ผลการศึกษาพบว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ ร้อยละ 13.11
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้ดำเนินการจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะมอบหมายให้ รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการต่อไป โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินการจัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) จำนวนทั้งสิ้น 2 ครั้ง ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งได้ทบทวนผลการศึกษาเดิมของ สนข. และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงรูปแบบโครงการให้เป็นปัจจุบัน
โดยหลังจากนี้ รฟม. จะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นจากการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ไปประกอบการเสนอเห็นชอบหลักการและผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบราวกลางปี 2564 รวมถึงประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565 เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการและสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2569