EA เล็ง 3 ธุรกิจดาวรุ่งทำรายได้ปีหน้า

26 ส.ค. 2563 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2563 | 11:22 น.

ซีอีโอ EA เผย ปีหน้า 3 ธุรกิจดาวรุ่ง "แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า พาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของพอร์ตการลงทุน จะสร้างการเติบโตให้กับองค์กร

จากพอร์ตการลงทุนของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งปัจจุบันของ EA มีทั้ง โรงงานไฟฟ้าพลังทดแทน สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักร ธุรกิจวิจัยและพัฒนา (Mine Mobility บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า และยังขยายการลงทุนเซ็น  MOU กับรัฐบาลสปป.ลาว ลุยโปรเจคยักษ์ สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อน เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) Saravan Downsteam Hydropower Project และ (2) Phamong Hydropower Project โดยใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้โครงการ 2 ปี 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลังของอีเอ โครงการหลักๆ ส่วนใหญ่จะเสร็จประมาณปลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงงานแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออน การสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ รถโดยสาร และพาสเซ็นเจอร์คาร์ สิ่งเหล่านี้จะเห็นประมาณปลายไตรมาส 4 ปีนี้ หรือต้นไตรมาส 1 ของปีหน้า 

"ปีนี้หลายบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ส่วนของพลังงานทดแทนกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น และเราโชคดีที่ไปจับในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต แม้จะมีความเสี่ยงบ้างในแง่อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว" นายสมโภชน์กล่าว

อีเอ ได้กระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ นอกจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ตอนนี้ได้ขยับเข้าไปในอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหม่ ก็ทำให้บริษัทมีการเติบโตได้

 

การขยายโรงงาน แผนการผลิตมีขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง และอีเอมีความตั้งใจที่จะขยายให้ได้ 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง การที่เราต้องการผลิตให้ได้ 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงเพราะ มันจะเพียงพอสำหรับรถยนต์ ภายในประเทศเรา แต่ถ้าในอนาคต จะไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า หรือการไปใช้ในเชิงพานิชย์ 50 ก็ยังไม่เพียงพอ ตรงนี้ตลาดเราชัดเจน

 

การลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ ในเฟสแรกลงทุนอยู่ที่ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท โดยงบก้อนนี้ใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพราะฉะนั้นใน 1 กิกะวัตต์แรก การลงทุนต่อหน่วยจะสูงกว่าภายในสิ้นปีนี้จะเร่งให้เซลแบเตอรี่ออกไปได้เซลแรก และภายในต้นปีหน้าจะเริ่มผลิตเป็นเชิงพานิชย์ และเมื่อขยายไป 50 กิกะวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าใช้เงินสดในการลงทุนคงไม่พอ ก็ต้องหาเงินทุนเพิ่ม 

 

สำหรับการหาแหล่งเงินทุน ด้วยโครงการที่ทำ ณ เวลานี้ กระแสเงินสดยังเพียงพอที่จะทำให้โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าจะขยายใหญ่ไปกว่านี้ ก็มีวิธีการจัดการในการหาแหล่งเงินลงทุนได้ ซึ่งมีหลายทาง เข่น การเพิ่มทุน การออกตราสารหนี้ต่างๆ หรือแม้กระทั้งการหาพันธมิตร เพราะถ้ามันเติบโตมากๆ อีเอไม่สามารถที่จะทำคนเดียวได้ มันจำเป็นต้องหาพันธมิตร เข้ามาเสริม เพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อีเอให้ความสำคัญกับการดูความสามารถในการแข่งขันของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ถ้าดี ก็เดินหน้าต่อ ด้วยยุทธศาสตร์ในการเดืนหน้าธุรกิจ แบตเตอรี่ที่ผลิตก็เป็นเกรดพรีเมี่ยม การเริ่มทำ 1 กิกะวัตต์ก่อนเพราะไซด์นี้ จะได้การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ต้นทุนต่อหน่วยสามารถต่อสู้กับต่างประเทศได้ และทำให้เราสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

 

ส่วนการประเมินสัดส่วนธุรกิจ และการลงทุน นายสมโภชน์ กล่าวว่า จะดูว่าโอกาสทางธุรกิจตรงไหนมี ก็ขยับไปทางนั้น เช่น ถ้าโอกาสของไฟฟ้ามา ก็ขยาย อย่างเช่น การทำเขื่อนผลิตไฟฟ้า นั่นคือเรการทำให้อีเอเติบโตไปในการผลิตไฟฟ้า  ขณะเดียวกัน ก็ยังได้ผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพราะเขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขง ไทยกับลาว สิ่งที่ได้มานอกจากพลังงาน คือ โครงการนี้จะได้น้ำด้วย เขื่อนนี้จะเหมือนฝ้ายน้ำล้นขนาดใหญ่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรรมของไทย และยังเป็นโครงการที่กั้นระหว่างไทยกับลาว เขื่อนอันนี้จะเป็นทรัพย์สินร่วม ได้ทั้งไฟฟ้า น้ำ และทรัพย์สินร่วม โครงการนี้เซ็น MOU แล้ว

ต้องใช้เวลาประมาณปี 2565 จึงจะเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งใช้งบลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาทอนาคตจะต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน ปริมาณไฟฟ้าน่าจะได้ 3 พันเมกกะวัตต์ อายุสัญญาสูงสุดน่าจะ 30 ปี แต่ตอนนี้ยังต้องเจรจากันก่อน 

 

"รายได้เราจึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ปีหน้าเรามองว่า การเติบโตของเราจะมาจาก แบตเตอรี่ รถยนต์พาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรือไฟฟ้า ซึ่งจะมีสัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งส่วนนี้จะเติบโตมากในปีหน้า" นายสมโภชน์กล่าวและว่า 

 

ทุกอย่างมันอยู่ที่ยุทธศาสตร์และเวลา เงินมีความจำเป็นในการลงทุน วันนี้อีเอ ทุนจดทะเบียนอยู่ที่373 ล้านบาท เราเติบโตมาจนมีทรัพย์สิน 7.7 หมื่นล้านบาท มีการเพิ่มทุนครั้งเดียว แต่ถ้าจะโตก็ต้องใช้เงินอีก และถ้าเราตัดสินใจคือ ต้องเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น