"รฟม " ยัน TOR รถไฟฟ้า "สายสีส้ม" เพิ่มเทคนิค ‘แฟร์เกม’  

27 ส.ค. 2563 | 03:04 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2563 | 12:36 น.

"รฟม." ยัน มีอำนาจรื้อเกณฑ์ เน้นตรวจสอบประมูล ด้านเทคนิค ควบคู่ราคา รถไฟฟ้า สายสีส้ม 1.4 แสนล้าน ตามข้อเรียกร้อง อิตาเลียนไทย ตราบใดยังไม่เปิดยื่นซอง พร้อมเปิดทางเอกชน เสนอเทคนิค ชั้นสูงสู้ ยันเงื่อนไขปรับปรุงทีโออาร์ โปร่งใส

 

 ข้อเรียกร้อง บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์จำกัด (มหาชน) “ให้นำเกณฑ์ด้านเทคนิคมาพิจารณา หาผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มากกว่าพิจารณา ด้านราคา” กลายเป็นชนวนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ ใช้รูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ในสัดส่วน ด้านเทคนิค 30% และราคา 70% จากที่ผ่านมาหากผ่านซองเทคนิคแล้ว พบว่ามีคะแนนเท่ากันให้ตัดสินที่ซองราคา
 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอสำหรับการร่วมลงทุนสายสีส้ม กรณีการยึดรูปแบบพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา มีความเหมาะสม รฟม.สามารถใช้อำนาจปรับเปลี่ยนเกณฑ์ได้ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน สายสีส้ม ข้อ 12 ตราบใด ที่ยังไม่ถึงวันเวลายื่นซองประกวดราคา  ขณะเดียวกัน การขยายระยะเวลายื่นซองออกไป 45 วัน  ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเอกชน
 

ที่ผ่านมาเอกชนจะมีเทคนิคไม่ต่างกัน และมักผ่านเกณฑ์จนถึงการตัดสินด้านราคา แต่ครั้งนี้หากใครมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ารฟม.เปิดเต็มที่ให้นำมาแข่งขันกันเพื่อรัฐตลอดจนประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับราคา ไม่เปลี่ยนแปลง

 แหล่งข่าวจากรฟม.เสริมว่า การแก้ไขทีโออาร์ครั้งนี้ เนื่องจากสายสีส้ม เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าชั้นสูง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตามแนวสายทางที่จะได้มีการก่อสร้างในด้านต่างๆ อาทิเช่น การก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตกซึ่งเป็นโครงสร้างสถานีและอุโมงค์ใต้ดินตลอดทั้งสาย ต้องมีการปรับปรุงสภาพดินเพื่อป้องกันการทรุดตัว (Ground Improvement) มีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและแม่น้ำเจ้าพระยา มีการใช้เทคนิคการก่อสร้างสถานีโดยไม่เปิดหน้าดินแบบ Pipe Roof ในบริเวณพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีโบราณสถาน สถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมไปถึงการใช้เทคนิคการค้ำยันพิเศษแบบ Underpinning สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้โครงสร้างสะพาน หรือทางยกระดับ
ดอนเมืองโทลเวย์
 

 

 ตลอดจนการก่อสร้างที่พาดผ่านพื้นที่ชุมชน อาคารบ้านเรือน ประชาชนที่ต้องใช้เทคนิคการออกแบบ อุปกรณ์ วิธีการก่อสร้างชั้นสูงที่ยืนยันได้ว่าสามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ มีความปลอดภัยสูงสุด ตามนโยบายของรฟม. ที่ให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัย ความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ เป็นต้น

 ขณะการออกแบบและจัดหาระบบรถไฟฟ้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น NFPA130 เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ไม่ลามไฟ ไม่ก่อให้เกิดควันพิษ เป็นต้น เพื่อให้ระบบรถไฟฟ้ามีความพร้อมใช้งาน ตรงต่อเวลา เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และมีระบบสำรองเพียงพอในกรณีเกิดเหตุขัดข้อง ไม่ต่างจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติงานและกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีบุคลากรที่เพียงพอ ได้รับการฝึกอบรมจนมีความชำนาญ เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัย ต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยตลอดระยะเวลาการร่วมลงทุน
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

“บีทีเอส” ดับเครื่องชน รถไฟฟ้าสายสีส้ม

“อิตาเลี่ยนไทย” ทำพิลึก ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม เลิกเน้นราคา

ทดสอบ วิ่งแล้ว ! รถไฟฟ้า "สายสีทอง "

 นอกจากนี้ การซ่อมบำรุงรักษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะทางและอุปกรณ์พิเศษ ต้องมีการจัดเตรียมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการให้บริการตลอดระยะเวลาการร่วมลงทุน เพื่อให้การบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยและแก้ไขเหตุขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว

 ขณะเดียวกันการจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมูลค่าการก่อสร้างงานโยธาที่เอกชนจะขอรับการสนับสนุน รวมไปถึงผลตอบแทนที่เอกชนจะมอบให้แก่ รฟม. การประเมินหา
ผู้ชนะการคัดเลือกจึงควรพิจารณาร่วมกันทั้งด้านเทคนิค ซึ่งแสดงถึงศักยภาพ เทคโนโลยี และความน่าเชื่อถือของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ รวมไปถึงด้านการลงทุนและผลตอบแทน เป็นต้น