ทะลวง 131 โปรเจ็กต์ ค้างท่อ ทุ่ม3.86 แสนล.ลุย อีอีซีเฟส 2 

10 ก.ย. 2563 | 08:22 น.

"คมนาคม" สั่งการบ้านหน่วยงานเกี่ยวข้อ งลุยปรับ แผนพัฒนา อีอีซี เฟส 2 เหตุ 131 โครงการค้างท่อ จ่อชงบอร์ดอีอีซี เคาะงบปี 2565 ภายในเดือน พ.ย.2564 ดันไทยศูนย์กลาง เชื่อม CLMV หลัง เดินหน้า 2โปรเจ็กต์ยักษ์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน -มหานครการบินอู่ตะเภา

 

หัวใจหลักของ เขตเศรษฐพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา )  ระยะทาง 220กิโลเมตร และ มหานครการบินอู่ตะเภา แม่เหล็กใหญ่ดึงดูดนักลงทุน กระจายเม็ดเงิน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังมี โครงสร้างพื้นฐาน รัฐอีกมากที่ยังล่าช้า งบประมาณที่มีจำกัด  จึงต้องจัดกระบวนทัพ ใหม่ ในระยะที่2 
 
 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะที่ 2 โดยระบุว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบร่วมกันถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานรวม ที่จะเกิดขึ้นในช่วงของการพัฒนาระยะที่ 2 ในพื้นที่อีอีซี ช่วงระหว่างปี 2565 – 2570 ซึ่งเบื้องต้นจะมีโครงการใหม่ จำนวน 131 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 3.86 แสนล้านบาท 
ทั้งนี้โครงการใหม่ที่จะมีการพัฒนาในระยะที่ 2 นี้ กระทรวงฯ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มโครงข่ายการเชื่อมต่อจากโครงการพัฒนาหลักๆ ที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว จากการพัฒนาในระยะที่ 1 โดยเป้าหมายของการสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงนี้ จะนำไปสู่การผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อโลจิสติกส์อีอีซีกับประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV

 


สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ภายหลังจากที่ประชุมเห็นชอบบรรจุโครงการไว้ในแผนพัฒนาครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการทั้งหมด กลับไปทบทวนข้อมูล และตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนา หากเกิดกรณีที่ต้องตัดงบประมาณเพื่อนำไปช่วยเหลือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จะได้ไม่กระทบต่อความสำคัญของการดำเนินโครงการ

 

 

 

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งทบทวนข้อมูลดังกล่าว และส่งกลับมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการจัดทำโครงการ โดยกำหนดให้รายงานข้อมูลภายในวันที่ 14 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นเมื่อ สนข. ตรวจสอบข้อมูลแล้วเสร็จ จะส่งกลับไปยังหน่วยงานอีกครั้ง เพื่อเตรียมเสนอแผนไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาอนุมัติโครงการ ภายในเดือน ต.ค.นี้ ก่อนทำเรื่องเสนอของบประมาณประจำปี 2565 ในเดือน พ.ย.2564 

แผนงานพัฒนาโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ระยะที่ 2 ได้แบ่งแนวทางพัฒนาออกเป็น โครงการทางรางและระบบขนส่งมวลชน 37 โครงการ วงเงินลงทุน 1.65 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด โครงการทางน้ำ 9 โครงการ วงเงิน 4.22 หมื่นล้านบาท คิดเป็น11% โครงการทางอากาศ 8 โครงการ วงเงิน 2.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8% 
รวมไปถึงโครงการทางถนน 44 โครงการ วงเงิน 1.13 แสนล้านบาท คิดเป็น 29% โครงการสาธารณูปโภคหลักเพื่อรองรับการพัฒนาระบบคมนาคม 14 โครงการ วงเงิน 3.12 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8% และมาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง 19 โครงการ วงเงิน 3.74 พันล้านบาท คิดเป็น 1% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด 

 

 

 

 

สำหรับโครงการสำคัญที่บรรจุอยู่ในแผนระยะที่ 2 จำนวน 131 โครงการ วงเงิน 386,565 ล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินงาน อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ชลบุรี-นครราชสีมา(แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี) วงเงิน 28,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกสนามบินอู่ตะเภา ทางหลวงสายพัทยา-ระยอง วงเงิน 350 ล้านบาท โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ชลบุรี-ตราด (ชลบุรี-แกลง) วงเงิน 22,000 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กม. และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 35,340 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ระยอง-มาบตาพุด วงเงิน 15,492 ล้านบาท โครงการถไฟทางคู่ ช่วงคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ วงเงิน 17,833 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) เมืองพัทยา อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี วงเงิน 74 ล้านบาท โครงการก่อสร้างศูนย์ท่าอากาศยาน MRO ระยะที่ 1 วงเงิน 10,210 ล้านบาท โครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ระยะที่ 2 วงเงิน 14,060 ล้านบาท ฯลฯ 


หากดำเนินการแล้วเสร็จ   จะมีโครงข่ายดังนี้ 1.ทางถนน ประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดิน ระยะทาง 1794 กม. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 483 กม. ทางหลวงชนบท ระยะทาง 1451 กม. 2.ทางราง ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ ระยะทาง 538 กม. และรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 412 กม. 3.ทางน้ำ ประกอบด้วย ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 60 ล้านตันต่อปี 4.ทางอากาศ ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสาร ราว 60 ล้านคนต่อปี และ 5. จุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า ICD 1 แห่ง และ CY อีก 4 แห่ง ส่งผลให้สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและเรือในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น รวมถึง โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นกว่า 220 กม. โครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 170 กม. โครงข่ายมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้น 150 กม.และโครงข่ายถนนเพิ่มขึ้น 75 กม. รวมทั้งมีทางแยกและสะพานที่ได้รับการปรับปรุงกว่า 30 แห่ง

 

หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3608