นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้ขึ้น โดยวางพื้นที่เป้าหมายของโครงการในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 257 คน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดเพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ ผนวกกับคุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น การเลือกใช้วัสดุในการออกแบบให้เหมะสมกับการใช้งาน ตอบสนองประโยชน์การใช้งาน และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ การสร้างสรรค์จากวัฒนธรรม หรือผสมผสานรูปแบบที่มีความร่วมสมัย ให้สามารถตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า
และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้แนวคิด Cross Cultural : Turn Thai Wisdom to International จำนวน 59 ผลิตภัณฑ์ 12 คอลเลคชั่น ประกอบด้วย 1.Beramas ,2.The colors that nature brings ,3.Fragility ,4.Nang-ta-lung ,5.The Banana clover design ,6.Natural Embroidery Bag ,7.PABAJA ,8.Southern X Northern ,9.Light with Shadow ,10.Timeless ,11.Colors- block in pattern graphic และ12.Flower in the crack of Stone
อย่างไรก็ดี แต่ละคอลเลคชั่นนั้น จะมีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบธีมสีที่ชัดเจน และการออกแบบผลิตภัณฑ์จะเน้นความคิดเชิงสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม นำต้นทุนท้องถิ่น ผสมผสานกับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาเพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่าย ณ ห้างสรรพสินค้า Avenue K ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัด ชายแดนใต้
“อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยส่วนใหญ่ เป็นการผลิตจำกัดอยู่ในระดับวิสาหกิจชุมชน ทำให้ผลิตได้ในจำนวนน้อย ผู้บริโภคยังไม่นิยมหรือตระหนักในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมากนัก ทำให้มีตลาดจำกัดเฉพาะกลุ่ม และขาดการกระตุ้นความต้องการของตลาดในประเทศ”
ขณะที่ชุมชนเองก็มักผลิตสินค้ารูปแบบเดิม ขาดการพัฒนาสินค้า ทำให้สินค้าไม่มีความหลากหลายและไม่มีความโดดเด่น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการ ประกอบกิจการของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 500 ราย ซึ่งจากข้อมูลพบว่า 63% เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิม ส่วนที่เหลืออีก 37% เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าทอพื้นเมือง ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม เคหะสิ่งทอ และสินค้าแปรรูปจากสิ่งทอ
สำหรับผลสำเร็จที่ได้จากโครงการฯ นอกจากจะเกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอ ที่สามารถพัฒนาและต่อยอด สร้างเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ยังเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจากข้อมูลยอดการจำหน่ายของร้านค้า และรายได้กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์ พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 20% โดยในปี 2562 ผู้ประกอบการหลังจากเข้าโครงการแล้ว และมียอดรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 16,210,000 บาท และในปี 2563 มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากเดิม 19,908,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป