การประชุมคณะอนุกรรมการพิจาณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.(ฉบับปรับปรุงใหม่) เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยมี 4 หน่วยงานของกระทรวงการคลัง
ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงบประมาณ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ได้ข้อยุติแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดแผนฟื้นฟูฯ ให้มีความชัดเจน และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเตรียม สรุปและเสนอคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูฯ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 14 กันยายนนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ข้อสรุปนั้น ยังสามารถเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกต 3-4 ข้อ เพื่อให้ ขสมก. กลับไปจัดทำรายละเอียด เบื้องต้นมีข้อสังเกตหลายเรื่อง อาทิ ราคาในการจัดจ้างรถร่วมเอกชน เข้ามาร่วมเดินรถตามแผนฟื้นฟูใหม่ 54 เส้นทาง ซึ่งมีการนำข้อมูลราคาว่าจ้าง จากหน่วยงานกลางเข้ามาชี้แจงให้ที่ประชุมทราบ
อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ที่ประชุมขอให้ ขสมก.กลับไปนำข้อมูลด้านวิชาการจากหน่วยงานอื่น 1-2 หน่วยงาน เข้ามาประกอบเป็นข้อมูลรวม เพื่อให้ทราบราคาว่าจ้างเฉลี่ย รวมทั้งเรื่องของการบริหารพลังงานไฟฟ้า หรือการชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี. ซึ่งมีความแตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมันทั่วไป
เนื่องจากรถเหล่านี้จะต้องหมุนเวียนเข้าอู่ที่มีอุปกรณ์ชาร์จ และต้องใช้ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มอย่างเหมาะสม จึงต้องปรับบริหารเวลาเดินรถให้สอดคล้อง กับการจัดการพลังงานด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมขอให้ ขสมก.เตรียมข้อมูลแจกแจงรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของที่ประชุม ก่อนเสนอแผนฯในวันที่ 14 ก.ย.นี้
ในส่วนการขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเงินภาระเกี่ยวกับการบริการเดินรถด้านสังคม (PSO) จากปัจจุบันหากแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ขสมก. ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ดำเนินการถึงปี 2572 ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ ขสมก.จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ทั้งนี้ที่ประชุมต้องการทราบถึงตัวเลข PSO ที่ชัดเจนในแต่ละปี เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ที่ภาครัฐ ยังจำเป็นต้องอุดหนุน ขสมก. แต่ละปีเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว
ด้านการจัดหารถเมล์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 2,511 คัน การเก็บค่าโดยสารกับเหมาจ่าย วันละ 30 บาท ที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหมด หาก นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ฉบับใหม่ คาด สามารถเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนก.ย.นี้
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูฯ จะจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดย ขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน
สำหรับประเด็นของโครงสร้างต้นทุน ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการ รถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bidding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาต่ำสุด (ต่ำกว่าราคากลาง) เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก.
รวมทั้ง รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานต่ำ EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการติดตั้งระบบ E-Ticket, GPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และ 2.กลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมาก และไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้
ข่าวหน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3609
ข่าวที่เกี่ยวข้อง