รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ “อว.” ได้ดำเนินการร่วมมือกำหนดกรอบทิศทางและการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อร่วมกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจนสอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ โดยยึดจากแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี รวม 5 แผน ได้แก่
1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ,2.แผนอนุรักษ์พลังงาน ,3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ,4.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และ5.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจน สอดคล้องนโยบายพลังงานของชาติตามแผนบูรณาการพลังงานระยาว 20 ปี โดยกลไกการดำเนินงานร่วมกันนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สอดรับกับแนวทางของกระทรวงพลังงานในการเตรียมพร้อมรับมือในยุคดิจิทัล 4D+1E คือ 1.DIGITALIZATION เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ
,2.DECARBONIZATION การลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง ,3.DECENTRALIZATION การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการกระจายศูนย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ,4.DE-REGULATION การผ่อนปรนกฎระเบียบ การเปิด Sandbox ให้เกิดการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิด Start Up ด้านพลังงาน และ 5.ELECTRIFICATION เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า
“ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่เป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามบูรณาการพลังงานระยาว 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย”
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านพลังงานและสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนากับกระทรวงพลังงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การใช้งานจริง สำหรับความร่วมมือดังกล่าว เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนา ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกรอบนโยบายพลังงานของชาติ
โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวลต่าง ๆ ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการขับเคลื่อนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงาน และนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งขยายผลในวงกว้างเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศไทย ให้มีการกำหนดโจทย์ที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศ
และมีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ สนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาระบบข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานที่มีความทันสมัย ทั้งนี้เพื่อเพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป