รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ไปยังอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ประเทศในอนาคตที่สร้างรายได้มหาศาล จากการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุน ระบบราง เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนอง เพิ่มศักยภาพขนสินค้า ฝั่งทะเลอันดามัน ไปยังทะเลอ่าวไทย ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาเสียงบประมาณขุดเจาะคลอง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรและท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง บริเวณ 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ เชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 แห่งด้วยแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตลอดจนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (แลนด์บริดจ์) ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
“เรามองว่าโครงการฯนี้จะช่วยเปิดช่องทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ระหว่างกันสามารถขนส่งสินค้าได้สะดวกมากขึ้น นอกจากการเชื่อมต่อระบบขนส่งทางทะเลแล้ว ขณะเดียวกันเป็นการเปิดช่องทางเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งเป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อลงสู่ภาคใต้ และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ หากมีการบูรณาการศึกษาโครงการฯ ชัดเจนมากขึ้น เชื่อว่าสามารถใช้ระบบขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะมาแทนการขุดคลองเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล”
ที่ผ่านมาภาครัฐได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสำรวจการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง วงเงิน 75 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณเพื่อสำรวจเส้นทางทางถนนและรถไฟเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่ง วงเงิน 90 ล้านบาท สำหรับการศึกษาพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ระดับความลึกที่ 15 เมตร เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย (จ.ชุมพร-จ.ระนอง) ซึ่งได้มีการวางแผนทั้ง 2 รูปแบบ โดยพัฒนาท่าเรือเดิมที่มีหรือสร้างท่าเรือใหม่ ซึ่งจะมีการถมทะเลเหมือนทั่วโลกที่ดำเนินการ ทั้งนี้จะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และแก้ปัญหาผลกระทบต่อประชาชน
ขณะเดียวกันในปี 2564 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมศึกษารูปแบบการลงทุนร่วมกับเอกชนแบบ PPP ของท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 75 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์นั้น ในส่วนของมอเตอร์เวย์ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษา รวมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เพื่อเชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2565 หลังจากนั้นจะเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป
ข่าวหน้า7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3610
ข่าวที่เกี่ยวข้อง