หลังกรุงเทพมหานคร ในฐานะคู่สัญญา ปิดดีลขยายสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี 38 ปี โดยมีเงื่อนไขแลกหนี้ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท กับค่าโดยสารที่ถูกลงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ แต่กลับต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากยังขาด “ขุนคลัง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ คาดว่าภายในปีนี้ ได้เห็นสัญญาใหม่
สำหรับความคืบหน้าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในหลักการแล้ว แต่อยู่ระหว่างขอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าหาก ครม.อนุมัติ บีทีเอสจะเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างราคาให้เป็นสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย โดยจะดำเนินการได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการลงนามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จ
“หากได้รัฐมนตรีคลังคนใหม่เร็วก็มั่นใจว่าจะสามารถลงนามได้ก่อนเดือน ธ.ค.63 ทั้งนี้บีทีเอสดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. PPP ทุกขั้นตอน ปัจจุบันสัมปทานเหลืออยู่กว่า 8 ปี ซึ่งหากครม.อนุมัติการต่อสัมปทานจะทำให้ระยะเวลาเดินรถของบีทีเอสเพิ่มเป็น 38 ปี ระยะทาง 66.4 กม. จากสัญญาสัมปทานเดิมมี 23.5 กม. แลกกับการเก็บค่าโดยสารรวมส่วนต่อขยายไม่เกิน 65 บาทต่อเที่ยว”
สำหรับการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เตรียมเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าไปถึงสถานีคูคตภายในเดือน ธ.ค.63 ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบเดินรถ จากปัจจุบันเปิดให้บริการเดินรถไปถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งมีผู้โดยสารเข้ามาในระบบราว 100,000 เที่ยวคนต่อวัน ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการถึงสถานีคูคต จะมีผู้โดยสารเข้าสู้ระบบราว 200,000 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ผ่านมาบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้รับสัมปทานช่วงสถานีแบริ่ง-สยาม ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการเดินหน้าส่วนต่อขยายจากสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู และจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ทำให้เกิดข้อทักท้วงของบีทีเอสและ รฟม.
โดยรถไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 3 ตอน สร้างความลำบากให้กับประชาน จึงมีแนวคิดให้ รฟม.และ กทม.ซึ่งเจ้าของสัมปทาน หารือร่วมทุน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากสถานีคูคต-แบริ่ง ถูกลงตลอดสาย ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลการต่อสัมปทานฯ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หลังจากที่ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาแล้วเสร็จเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยแลกกับเงื่อนไขในการกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย จากเดิมประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารสูงถึง 159 บาท ซึ่งช่วยลดภาระประชาชนในการเดินทาง
“ที่ผ่านมาเราได้มีการเจรจากับบีทีเอส ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ยอม เพราะหากเดินทางจากสถานีสยาม-แบริ่ง ค่าโดยสารอยู่ที่ 59 บาทแล้ว เพิ่มอีก 6 บาท เขาอยู่ไม่ได้ ซึ่งทางเราก็ไม่ยอมเหมือนกัน เพราะค่าโดยสารแพงจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน หากเจราจาตกลงแล้งควรยึดเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ ส่วนแนวโน้มที่จะขยายสัญญาสัมปทานต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบีทีเอส หารือกับรัฐบาลว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ หากไม่ต่อและไม่ยึดตามเงื่อนไขที่เราขอ ก็ยกเลิก เพราะเราคงแบกรับภาระหนี้แสนล้านบาทไม่ไหว”
สำหรับสาเหตุการต่ออายุสัมปทานฯ มาจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากรฟม. ทำให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทาง ทำให้ต้องรับภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท จากการโอนโครงการรวมถึงค่าบริหารจัดการเดินรถไปด้วย ทำให้กทม.มีการเจรจากับบีทีเอสด้วยการต่ออายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แลกกับบีทีเอสรับภาระหนี้มูลค่าแสนล้านบาทแทนกทม. และเงื่อนไขค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้และค่าใช้จ่ายในการเดินรถนั้น คาดว่าหากครม.อนุมัติการต่อสัมปทานจะทำให้บีทีเอสเป็นผู้แบกรับภาระหนี้แสนล้านบาท และได้สัญญาสัมปทานเพิ่มออกไปถึงปี 2572 หลังจากนั้นบีทีเอสต้องทยอยชำระค่าเช่าให้กับกทม.ตลอดอายุสัญญาสัมปทานเป็นรายปี ซึ่งจะทำให้กทม.มีรายได้ราว 2 แสนล้านบาท
“หากบีทีเอสหารือกับรัฐบาลแต่ไม่ได้ข้อสรุป และให้กทม.กลับมาบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหมือนเดิมคงไม่ทำเนื่องจากปัจจุบันกทม.เปิดให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงส่วนต่อขยายสถานีแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และสถานีจตุจักร-วัดพระศรีฯ ซึ่งไม่ได้เก็บค่าโดยสารกว่า 1 ปีแล้ว ส่งผลให้กทม.มีหนี้ราว 1,600 ล้านบาท”
หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ ที่ 3611
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง