นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) บริเวณทางหลวงหมายเลข 2033 ตอนคำพอก-หนองญาติ กิโลเมตรที่ 55+425 - 55+575 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ว่า จากสถานการณ์ยางพาราซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ประสบปัญหาราคาตกต่ำ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา รับทราบแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยดังกล่าว โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ รวมถึงตามที่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือร่วมใจในการผนึกกำลังของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์กองทุนสวนยาง รวมถึงหน่วยงานที่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทางถนนจากยางพารา
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” สามารถที่จะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ประกอบกับมีสัดส่วนการใช้น้ำยางพารา เป็นส่วนผสมจำนวนมาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา สร้างรายได้ โดยตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท. เบื้องต้นการไปเปิดโครงการในครั้งนี้ จะได้ไปศึกษากระบวนการผลิต อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการใช้ ยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่นิยมทำกันมากกว่า ร้อยละ 55 ของเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากยางก้อนถ้วย ผลิตง่าย และไม่ต้องใช้เงินลงทุนและแรงงานจำนวนมาก เมื่อนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในโครงการฯ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีรายได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราในประเทศให้มากขึ้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ราคายางก้อนถ้วย ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นสูงถึง 37.10 บาทต่อกิโลกรัม จากช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่เปิดตัวโครงการ ในการเซ็นต์ ข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงนั้นยางก้อนถ้วยมีราคาประมาณ 32 บาทต่อกิโลกรัม โดยการนำยางก้อนถ้วยมาใช้ในการผลิตแผ่นยางพาราคลุมแท่งแบริเออร์ ทุก 1 เมตร ใช้ยาง 28 กิโลกรัม โดยมีราคาขายที่ 3,400 บาท ดังนั้นเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา ได้ถึง 43 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการยกระดับยางพาราก้อนถ้วย ไปทั้งระบบอีกด้วย ซึ่งอยากให้คงราคาที่ 43 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ราคายางผลิตมากเกินไปจนล้นตลาด
สำหรับกำหนดการเปิดโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย วันที่ 25 ก.ย.2563 จังหวัดนครพนม จากนั้นในวันที่ 26 ก.ย.2563 ที่จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดเลย ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการดูดซับปริมาณยางพาราออกจากระบบ สร้างเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความเหมาะสมและมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ
“ก่อนนำมาใช้งานจริง ได้ทำการทดสอบทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์วิ่งเข้าชนเพื่อวัดแรงปะทะที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน สามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญ ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือผนึกกำลังริเริ่มสร้างสรรค์โครงการจนกระทั่งเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มแผ่นยางธรรมชาติและหลักนำทางยางธรรมชาติ มาติดตั้งเพื่อใช้งานจริง อันจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน”
นายปฐม กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท(ทช.) ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563-2565 โดย มีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆ ปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน