วันนี้ (25 กันยายน 2563) เวลา 13.30 น. โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้ลงทุน (Market Sounding) สัมมนาสรุปผลโครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม “TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” โดยมีนายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร กล่าวรายงาน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า เข้าร่วมการสัมมนาฯ
นางวิไลรัตน์ฯ เปิดเผยว่า การพัฒนา TOD ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากภาครัฐผลักดันเพียงฝ่ายเดียว แต่ความสำเร็จของการพัฒนาจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และมีอำนาจในการริเริ่ม ร่วมตัดสินใจและร่วมผลักดันในการพัฒนา TOD ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อท้องถิ่น กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ให้ความสำคัญและเน้นบทบาทความร่วมมือของท้องถิ่น โดยกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา TOD 7 ประการ ดังนี้
1. กำหนดให้ TOD บรรจุอยู่ในผังการพัฒนาประเทศในทุกระดับ ทั้งผังนโยบายระดับชาติ ผังนโยบายระดับภาค ผังนโยบายระดับจังหวัด ผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ รวมถึงผังนโยบายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผังนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทั้งนี้ ได้กำหนดให้พื้นที่เป้าหมาย TOD บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางของประเทศด้วย
2. รวบรวมที่ดินขนาดใหญ่และต่อเนื่องกับพื้นที่สถานีรถไฟเป้าหมายเพื่อการพัฒนา TOD อย่างเป็นเอกภาพ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากภาคประชาชนและมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวม เช่น การจัดรูปที่ดิน การรวบรวมที่ดินโดยสมัครใจ การใช้ที่สาธารณประโยชน์ที่หมดสภาพ หรือพลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงนำที่ราชพัสดุของรัฐมาพัฒนา
3. กำหนดใช้มาตรการทางผังเมืองเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น การกำหนด FAR และให้ค่า FAR Bonus เพื่อแลกกับพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ รวมถึงการกำหนดมาตรการควบคุมอาคาร ให้เป็นองค์ประกอบของเมืองหรือชุมชนน่าอยู่ ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
4. จัดตั้งองค์กรขับเคลื่อน TOD ในทุกระดับ จากระดับรัฐบาลสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อบูรณาการความร่วมมือและสร้างเอกภาพในการบริหารจัดการหน่วยงานทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
-คณะกรรมการนโยบาย TOD ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานเพื่อความคล่องตัวในการสั่งการ
-องค์กรขับเคลื่อน ประสาน และส่งเสริมการพัฒนา TOD ในระดับชาติ
-องค์กรขับเคลื่อน TOD ในระดับท้องถิ่น
5. สร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนา ด้วยการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการต่างๆ เช่น สิทธิและประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงการจัดหาแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนชำระในระยะยาว จากสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น
6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในและภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่น ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก
7. จัดให้มีกฎหมายรองรับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพัฒนา TOD ทั้งระบบ โดยการประยุกต์ใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการพัฒนากฎหมาย TOD ขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา TOD ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์จากการมีส่วนร่วมของประชาชน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมต่อส่วนรวมมากที่สุดในระยะยาว
ภายในงานสัมมนาฯ ดังกล่าวยังได้นำเสนอความคืบหน้าผลการศึกษาพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ร่างแผนแม่บทการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของโครงการฯ หรือแผนแม่บท TOD ประเทศไทย 177 แห่ง และพื้นที่ต้นแบบการพัฒนา TOD 3 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟขอนแก่น สถานีรถไฟพัทยา และสถานีรถไฟอยุธยา ยุทธศาสตร์ของโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านกฎหมาย ด้านการเงินการลงทุนพร้อมรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ครั้งนี้ สนข. จะรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Master Plan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อให้การศึกษามีความครอบคลุมในทุกมิติและสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป