ประเดิม ‘แลนด์บริดจ์’ ลุย 9มอเตอร์เวย์ เชื่อมทางคู่

01 ต.ค. 2563 | 08:20 น.

    สนข. เปิดแผนศึกษา 9 มอเตอร์เวย์ เชื่อมทางคู่ (MR-MAP) 5,000 กิโล แสนล้าน ประเดิมแลนด์บริดจ์แทนขุดคลองไทย เส้นทาง “ชุมพร-ระนอง” ระยะทาง120 กม.  

 

ที่ผ่านมาจะเห็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) หรือแลนด์บริดจ์นั้น ถูกคัดค้านหลายโครงการ เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ในอดีตเคยมีการศึกษาในโครงการดังกล่าวไว้แล้ว พบว่ามีความทับซ้อนกับการศึกษาการขุดคลองไทย ซึ่งมีพื้นที่เป็นเส้นทางเดียวกัน อีกทั้งมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทั้ง 2 ฝั่งทะเล เพื่อเป็นจุดเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมา สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยได้ร้องเรียนถึงกระทรวงคมนาคมให้ยกเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสตูล  (ปากบารา) เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำประมงพื้นบ้าน ทำให้โครงการฯถูกยกเลิกไป

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มติเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563-2566 ในวงเงิน 68 ล้านบาท ถือเป็นการื้อโครงการฯ ปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะได้รับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

 

เบื้องต้นแหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะยึดแนวเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ที่เคยเสนอไว้ 9 เส้นทาง มูลค่าเกินแสนล้านบาท แต่มี 1 เส้นทางที่มีความจำเป็นต่อโครงการนี้โดยเฉพาะแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 120 กม. สำหรับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)6 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,380 กม.เป็นต้น  (อ่านอินโฟประกอบ) 

ประเดิม ‘แลนด์บริดจ์’ ลุย 9มอเตอร์เวย์ เชื่อมทางคู่

 

 

 

    ขณะเดียวกันการศึกษาครั้งนี้จะต้องคำนึงถึงปริมาณของสินค้าที่เดินทางผ่านไทย เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือมีโอกาสผ่านไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบมะละกา แถบบริเวณภาคใต้ของไทยที่ทำให้สิงคโปร์ได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ไทยไม่ได้รับประโยชน์ในการขนส่งสินค้าผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว รวมทั้งพบว่าการขนส่งสินค้าบริเวณดังกล่าวติดขัด เนื่องจากปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าข้ามประเทศเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า ทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าและการสัญจรทางน้ำติดขัด อีกทั้งการเดินทางขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่อ้อม ถ้าสามารถดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นในไทยได้ จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้ามากขึ้น 
    ทั้งนี้ด้านการเวนคืนที่ดินโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการหลังจากมีการศึกษาและเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อหาเอกชนร่วมทุนแบบพีพีพี โดยเส้นทางที่จะดำเนินการเวนคืนฯนั้น เบื้องต้นให้กรมทางหลวง (ทล.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือศึกษาแนวเส้นทางร่วมกันภายใต้แผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP
    สำหรับ ความคืบหน้า โครงการฯ พัฒนาแลนด์บริดจ์ สนข. ระบุว่า ได้รับงบประมาณศึกษาโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 และดำเนินการศึกษาระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้มีแนวโน้มศึกษาการร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี เน็ตคอส เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นให้เอกชนร่วมลงทุนในครั้งนี้
  

 

 “สำหรับแนวทางการศึกษาโครงการฯ มีแนวโน้มดำเนินการศึกษาสร้างท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง (อ่าวไทย-อันดามัน) โดยมีการเชื่อมแลนด์บริดจ์ระหว่างมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่อยู่บริเวณระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงปัญหาโลจิสติกส์ในไทยว่าสามารถทำได้หรือไม่ และระดับน้ำทะเลทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันเท่ากันหรือไม่ หากสามารถใช้วิธีการนี้ได้จะช่วยประหยัดงบประมาณมากขึ้น แต่ถ้าขุดลอกคลองจำเป็นต้องขุดคลองในบริเวณกว้าง ซึ่งต้องศึกษาว่าจะสามารถขนส่งสินค้ากรุงเทพฯสู่ภาคใต้ได้อย่างไร ซึ่งเราจะศึกษาวิธีการเหล่านี้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนกันมากขึ้น ซึ่งจะต้องดูว่าแนวทางการศึกษาแบบใดที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุด” 

 

ข่าวหน้า7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3614