รถไฟฟ้า สายสีชมพู-สายสีเหลือง มี “รางเดียว แคบๆ” ถ้า “เดี้ยง” ผู้โดยสาร ต้องทำอย่างไร?

05 ต.ค. 2563 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2563 | 09:39 น.

สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม รถไฟฟ้า สายสีชมพู-สายสีเหลือง มี “รางเดียว แคบๆ” ถ้า “เดี้ยง” ผู้โดยสาร ต้องทำอย่างไร?

 

 

 

ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว ว่า โดยทั่วไปรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล มีขบวนรถไฟฟ้าวิ่งคร่อมราง ไม่มีทางเดินให้ผู้โดยสารเดินในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน แล้วผู้โดยสารจะออกจากโมโนเรลซึ่งวิ่งอยู่ที่ระดับความสูงไม่น้อยให้ปลอดภัยได้อย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้น่าดีใจที่เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานรับมอบขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล “แบบไร้คนขับ” สำหรับใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่าอีกไม่นานเราจะได้ใช้โมโนเรลกันแล้ว นับว่าเป็นการพัฒนาระบบรางของเมืองไทยไปอีกก้าวหนึ่ง

 

โมโนเรลเหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากนัก มีขีดความสามารถในการขนผู้โดยสารได้ประมาณ 30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ในขณะที่รถไฟฟ้าขนาดหนักดังเช่น บีทีเอส และ เอ็มอาร์ที สามารถขนผู้โดยสารได้ประมาณ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ต้นทุนการก่อสร้างโมโนเรลถูกกว่ารถไฟฟ้ายกระดับขนาดหนัก ประมาณ 30%-40%

 

รถไฟฟ้า สายสีชมพู-สายสีเหลือง  มี “รางเดียว แคบๆ” ถ้า “เดี้ยง”  ผู้โดยสาร ต้องทำอย่างไร?

 

 

 

 

มีหลายคนถามผมว่าถ้าโมโนเรลสายสีชมพูหรือสายสีเหลืองจอดเสียอยู่บนรางที่สูงจากพื้นดินเกือบ 20 เมตร ผู้โดยสารจะออกจากโมโนเรลให้ปลอดภัยได้อย่างไร? ผมขอตอบดังนี้ทั้งโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นโมโนเรลที่วิ่งสวนทางกัน กล่าวคือสายสีชมพูมีรางรองรับโมโนเรล ขาไป 1 ราง และขากลับอีก 1 ราง สายสีเหลืองก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเกิดเหตุขัดข้องที่สายใดสายหนึ่งผู้โดยสารจะต้องทำดังนี้

1. กรณีมีโมโนเรลกู้ภัยมารับ

โมโนเรลกู้ภัยจะมาจอดเทียบหรือขนานกับโมโนเรลที่เสีย เจ้าหน้าที่จะวางสะพานเชื่อมระหว่างโมโนเรลกู้ภัยกับโมโนเรลที่เสีย จากนั้นผู้โดยสารจะต้องเดินจากโมโนเรลที่เสียไปสู่โมโนเรลกู้ภัยซึ่งจะขนผู้โดยสารไปสู่สถานี

2. กรณีไม่มีโมโนเรลกู้ภัยมารับ-ต้องเดินบนทางเดินฉุกเฉิน

 

 

 

ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้โดยสารจะต้องออกจากโมโนเรลอย่างรีบด่วน ไม่สามารถรอโมโนเรลกู้ภัยมารับได้ ในกรณีนี้ผู้โดยสารจะต้องลงจากโมโนเรลไปที่ทางเดินระหว่างรางทั้งสอง ทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์เพื่อให้ผู้โดยสารเดินไปสู่สถานีที่ใกล้ที่สุด ความสูงจากพื้นโมโนเรลถึงทางเดินเกือบ 2 เมตร ดังนั้น จะต้องลงทางบันไดที่พาดจากประตูโมโนเรลไปที่ทางเดิน บันไดดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนรถและบนทางเดินตลอดทาง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์จะต้องช่วยกันอุ้มลงมาที่ทางเดินแล้วเข็นไปที่สถานี

รู้อย่างนี้แล้ว สบายใจได้เลยว่าเราจะสามารถนั่งโมโนเรลได้อย่างปลอดภัยแน่นอน