นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ว่า กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นห่วงในกรณีหาก รฟม.แพ้คดีครั้งนี้ อาจทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าโง่แก่เอกชนเพราะต้องชดเชยความเสียหาย โดยเรื่องนี้ รฟม.ขอชี้แจงว่าไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากตามคำฟ้องและคำร้องของบีทีเอส ไม่มีการระบุถึงการเรียกร้องข้อเสียหาย อีกทั้ง รฟม.ปรับเกณฑ์คัดเลือกนี้ ดำเนินการเปิดรับข้อเสนอ ดังนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดได้รับความเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นเงินชดเชย ทั้งนี้ศาลปกครองกลางมีนัดไต่สวนในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
ที่ผ่านมาบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้ยื่นร้องการปรับหลักเกณฑ์โครงการฯ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 โดยรายละเอียดคำขอแนบท้ายระบุว่า 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับปรุงวิธีการประเมินและการขยายระยะเวลายื่อข้อเสนอตามที่ รฟม.ดำเนินการ และ 2.ขอให้ศาลเพิกถอนเอกสารประกาศเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีคำขอท้ายคำร้องด้วยว่า ให้ศาลระงับการคัดเลือกเอกชนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิจารณาตัดสินคดีนี้ ทั้งนี้ผู้ฟ้องร้องไม่ได้มีการเรียกร้องเงินชดเชยแต่อย่างใด ซึ่งจะไม่มีการเสียค่าโง่ในอนาคต เนื่องจากเป็นการฟ้องร้องเพื่อคุ้มครองและเพิกถอนมติการปรับปรุงหลักเกณฑ์เท่านั้น
ทั้งนี้การนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมในการพิจารณาคัดเลือกเป็นการดำเนินการตามข้อสงวนสิทธิ์ที่ รฟม.ระบุไว้ใน RFP และยืนยันว่ากรณีของการปรับหลักเกณฑ์ จะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ RFP ไม่ได้กำหนดผู้รับเหมางานโยธาต้องซื้อซอง ดังนั้นสามารถรับเหมาช่วงได้ (ซับคอนแทรค) รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันได้ขยายเวลาผู้ซื้อซองออกไป 45 วันนับตั้งแต่วันที่ออกเอกสารประกาศเชิญชวนร่วมลงทุน(RFP) ทำให้เอกชนมีระยะเวลาเตรียมจัดทำข้อเสนอก่อนยื่นประมูลไม่น้อยกว่า 70 วัน ซึ่งมีระยะเวลามากกว่าหลักเกณฑ์เดิมหลังกำหนดการยื่นซองประมูลมีระยะเวลาเพียง 60 วันเท่านั้น