‘ตั๋วร่วม’วุ่น  ผุดค่างาน VO เพิ่ม240ลบ.

08 ต.ค. 2563 | 12:07 น.

สนข.เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบตั๋วร่วม คาดเปิดใช้ระบบสิ้นปี 63-ต้นปี 64 ด้านแอร์พอร์ต ลิงก์ จ่อคิดค่าปรับบริษัทผู้รับจ้าง เหตุส่งมอบงานช้ากว่าแผนที่กำหนด ฟาก รฟม.เตรียมถก BEM เจรจาค่าปรับปรุงระบบ ขณะที่คมนาคม หวั่นไม่ทันใช้ระบบปีนี้ หลังรฟม.เพิ่มค่างาน VO ราว 240 ล้าน

 

 

 

 

   นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการติดตั้งระบบตั๋วร่วม ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบของทั้ง 2 บริษัท เบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้พัฒนาการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการใช้บัตรแมงมุมและบัตรโดยสาร MRT ส่วนบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นผู้พัฒนาระบบในส่วนของสายสีเขียวเพื่อรองรับการใช้บัตรแรบบิท คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือช้าสุดภายในต้นปี 2564 ส่วนการศึกษาอัตราค่าโดยสารข้ามระบบนั้น ขณะนี้จะใช้เรทอัตราค่าโดยสารตามปกติที่ดำเนินการในปัจจุบัน
  

 

 นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กล่าวว่า ในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อยู่ระหว่างการทดสอบระบบหัวอ่านเพื่อสามารถอ่านข้อมูลบัตรรถไฟฟ้าระบบอื่นๆ ได้ ที่ผ่านมายังติดปัญหาด้านเทคนิค รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันยังไม่ได้ยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับจ้างพัฒนาระบบฯ ซึ่งทางบริษัทผู้รับจ้างอยู่ระหว่างพัฒนาระบบหัวอ่านได้ทันภายในปีนี้ 
  

 

 “ขณะนี้เรายังไม่ได้พิจารณาการคำนวณค่าปรับการทำงานของบริษัทผู้รับจ้าง เนื่องจากบริษัทผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบแผนงานพัฒนาระบบก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาข้อเท็จจริง ตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หากบริษัทผู้รับจ้างดำเนินการพัฒนาระบบแล้วเสร็จจะเริ่มดำเนินการคิดค่าปรับอีกครั้ง”

‘ตั๋วร่วม’วุ่น  ผุดค่างาน VO เพิ่ม240ลบ.

    รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงนั้น ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ยังไม่ได้มีการอนุมัติกรอบวงเงินค่าปรับปรุงระบบหัวอ่านรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เนื่องจากสายสีน้ำเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทานมีการแจ้งว่าแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งรฟม.ต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้ ด้านสายสีม่วง รฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนเอง เบื้องต้นที่ประชุมได้สั่งการให้ รฟม. ทบทวนปรับลดวงเงินและเจรจาต่อรองค่าปรับปรุงกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ได้วงเงินที่เหมาะสม ส่วนความล่าช้าในการสั่งซื้ออุปกรณ์ เนื่อง จากติดปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อรองรับบัตรโดยสารข้ามระบบทำได้ไม่เต็มที่
   

 

 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการจัดทำคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) ของรฟม. ซึ่งเป็นการเพิ่มงานปรับปรุงหัวอ่านรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงิน 140 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน วงเงิน 100 ล้านบาท ขณะนี้มีความล่าช้า ทำให้การปรับปรุงใช้งานข้ามระบบร่วมกัน ทั้งบัตรแรบบิทของบีทีเอส และบัตร MRT บัตรแมงมุม ของรฟม. อาจไม่ทันภายในปีนี้
    ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการปรับปรุงหัวอ่านรองรับบัตรข้ามระบบ ทางรฟม.และบีทีเอส ต้องปรับปรุงระบบเป็นแอ็กเคาต์ เบส ทิกเก็ต (ABT) ซึ่งเป็นการใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/Master/Visa Card) รวมถึงระบบคิวอาร์โค้ด การสแกนใบหน้า ฯลฯ