คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยสิ้นปี 2580 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตฟ้าใหม่เข้ามา 53,997 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 18,696 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 1,933 เมกะวัตต์ รวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกตํ่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. จึงเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ประเทศไม่ควรจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามา หรือหากมีโครงการแล้วให้ชะลอไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประเทศหรือกระทบค่าไฟฟ้ากับประชาชน
ส่งผลให้กระทรวงพลังงาน ต้องมาทบทวนแผนพีดีพีดังกล่าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นประโยชน์กับเกษตรกร สร้างงานสร้างรายได้ครม.จึงได้เห็นชอบให้ดำเนินการในช่วงแรกก่อน 700 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออาจจะทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับแผนพีดีพีที่ทบทวนใหม่
นายกวิน ทังสุพานิช
นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพีดีพีที่มีการทบทวนใหม่ จะเป็นการแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่ในปริมาณมากเป็นหลัก ต้องไปดูว่าจะลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลงได้อย่างไร จากปกติจะต้องไม่เกิน 15% ซึ่งมีหลายแนวทาง
ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะยังเดินหน้าต่อไป แต่จะดำเนินงานในลักษณะโครงการนำร่องก่อน 100-150 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2564-2565 ส่วนที่เหลือนั้น จะต้องมาพิจารณาดูโครงการที่นำร่องไปแล้วประสบความสำเร็จอย่างไร ถึงจะไปขยายปริมาณกำลังผลิตต่อไปได้ เพราะมองว่ากำลังผลิตที่บรรจุอยูในแผนพีดีพี 1,933 เมกะวัตต์ นั้นมีปริมาณมากเกินไป เพราะต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชพลังงานและไม้โตเร็ว 1.05-2.89 ล้านไร่
นอกจากนี้ จะต้องแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่คณะกรรมการนโยบายพลังานแห่งชาติ (กพช.) เคยมีมติไว้ โดยจะกำหนดให้ชุมชนถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 10%จากเดิมที่เปิดโอกาสให้ถือหุ้นได้ถึง 40%
อีกทั้ง จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า โรงไฟฟ้าโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ จากเดิมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แบ่งโรงไฟฟ้าออกเป็น 2 ประเภท เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ใช้พืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์)ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าชีวมวล(ไม้โตเร็ว) ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ก.พลังงาน” เตรียมปรับแผน”พีดีพี” ใหม่หลังโควิดฉุดยอดใช้พลังงาน
นายกวิน กล่าวอีกว่าส่วนค่าไฟฟ้านั้น มองว่ากรอบราคารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT )เดิม ของทั้งเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิด ถือว่าอยู่ในอัตราที่เหมาะสมแล้ว โดยค่าไฟฟ้าจากชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.2636 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน อัตรา 5.3725 บาทต่อหน่วย เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำเสนอกพช. เห็นชอบ หลังจากนั้น จะเปิดประชาพิจารณารับฟังความคิดเห็น ก่อนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะไปออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือนธันวาคม 2563 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2564-2565