นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เปิดเผยว่า บอร์ด PPP มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบข้อสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ภายหลังจาก การบินไทยพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว
สำหรับการตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวขึ้นมา เพื่อดูสัญญาต่างๆ ระหว่าง AOT และ THAI ว่าปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุน PPP หรือไม่ หรือมีสัญญาใดบ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น การเช่าพื้นที่กับ AOT เคาน์เตอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา THAI เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ปัจจุบันพ้นสภาพแล้วและเป็นเอกชน 100% ดังนั้นจึงต้อมาดูในข้อสัญญาในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐว่ามีสัญญาใดบ้างที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนการทำแผนการฟื้นฟูนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในธันวาคมนี้
นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า บอร์ด PPP ยังอนุมัติโครงการรวมมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าเงินลงทุนรวม 1.89 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สัมปทาน
“กนอ. จะมอบสิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของโครงการและดำเนินโครงการ โดยเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด ขณะที่ภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนในโครงการ ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง”
อย่างไรก็ดี โครงการท่าเทียบเรือดังกล่าวที่ต้องดำเนินการนั้น เนื่องจากบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด (TTT) จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 65 ดังนั้น จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดลง เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบกมูลค่ารวม 2.86 พันล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ
และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ตลอดระยะเวลาโครงการ 15 ปี เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยให้ไปพิจารณาผลตอบแทนของรัฐอย่างรอบคอบในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน และการขอรับสิทธิประโยชน์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI)
นายชาญวิทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า บอร์ด PPP ยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 62 ในเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล รวมถึงแนวทางการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการจัดทำและดำเนินโครงการครบถ้วน
“โครงการรถไฟสายต่างๆ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการด้านต่างๆ”