ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐพยายามผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบายมากขึ้น เช่นโครงการรถไฟฟ้าหลากสีที่ทยอยก่อสร้างและเปิดให้บริการนั้นที่ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐพยายามผลักดันควบคู่ไปพร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 21.5 กิโลเมตร (กม.) กลับล้มไม่เป็นท่า เนื่องจากที่ผ่านมาทาง กทพ.มีการเจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณหน้ามก.ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง และมีทีท่าว่ามก.ยอมที่จะถอยทัพ เมื่อ กทพ.มีแนวคิดสร้างหลังคาโดมครอบทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ซึ่งเป็นระบบป้องกันในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อควบคุมมลภาวะทางอากาศ แต่สุดท้ายก็จนมุมและไม่สามารถทำให้มก.ยอมรับโครงการนี้ได้ เพราะมีความกังวลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ
แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วงทดแทน N1 ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้ส่งหนังสือแจ้ง กทพ.กรณีที่มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี แต่ไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยฯ เนื่องจากทางมก.ยังมีความกังวลในปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและสภาพแวดล้อม ถึงแม้ว่ากทพ.จะเสนอแนวคิดหลังคาโดมครอบเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ แต่มก.ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงแนวคิดที่กทพ.เสนอไปก่อนหน้านี้ เบื้องต้นกทพ.ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N2 ไปก่อน เพื่อเสนอให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคจร.พิจารณา ว่าแนวทางดังกล่าวสามารถปรับแผนสร้างช่วงที่พร้อมก่อนได้หรือไม่
“ทั้งนี้ช่วงทดแทน N1 จะต้องหาแนวทางใหม่ว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เบื้องต้นจะดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปสำรวจพื้นที่แนวทางใหม่ว่าเป็นอย่างไร และมีอุปสรรคอะไรอีกบ้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาสักระยะนึง เพราะพื้นที่บริเวณนั้นหนาแน่น ถ้าดำเนินการไปตอนนี้อาจจะกระทบบริเวณพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยได้ หากรอให้ดำเนินการทั้ง 2 ช่วงพร้อมกันจะทำให้โครงการฯนี้ไม่เกิดขึ้น ส่วนจะเสนอเข้าคจร.ได้เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณา หากคจร.เห็นชอบ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะเดียวกันกทพ.ยืนยันความจำเป็นในการพัฒนาโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 เพื่อลดปริมารการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายทางด่วนจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ”
ส่วนความคืบหน้าโครงการฯ ช่วงทดแทน N2 ขณะนี้ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุง (อีไอเอ) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว คาดผ่านความเห็นชอบจากสผ.ภายในปลายปี 2563-ต้นปี2564 หลังจากนั้นจะเริ่มประกาศประกวดราคาภายในกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2564 ซึ่งใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการภายในปี 2567
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากกทพ.ในการขอแก้มติคจร.เพื่อดำเนินการก่อสร้างช่วงทดแทน N2 หากเรื่องมาถึงแล้วจะรีบดำเนินการเสนอต่อคจร.พิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งการแก้มติคจร.ในครั้งนี้เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากรายละเอียดอยู่ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าช่วงทดแทน N2 ยังติดปัญหากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตาม คาดว่าจะนำเสนอเข้าคจร.ได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
“หากเสนอเข้าคจร.แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรก็ให้ปฏิบัติเป็นไปตามนั้น เพราะในปัจจุบัน กทพ.มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) 1,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สุดท้ายจะถูกดอกเบี้ยทบไปหมด ทำให้เงินกองทุนฯ หายไป ทั้งนี้ต้องรายงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคจร. กรณีที่มีความจำเป็นในการแก้ไขมติคจร.ดำเนินการช่วงทดแทน N 2 ไปก่อน ว่ามีเหตุผลในการดำเนินการครั้งนี้อย่างไร เชื่อว่าไม่น่าเป็นปัญหาต่อโครงการฯ”
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,626 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563