นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 4/63 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในปี 64 มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เกิดการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีงบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐ ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้น และหวังว่าปี 65 จะเกิดการลงทุนต่อเนื่องไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยมีเป้าหมายยกระดับการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น เข้าถึงตลาด เน้นเรื่องการตลาดเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรให้ได้เทียบเท่ากับกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ
อย่างไรก็ดี จะเป็นการมุ่งเน้นใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) โดยพัฒนาสินค้าใหม่ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเกษตร นวัตกรรม และภาคเอกชน โดยจะมีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะมีกลุ่มหลักประกอบด้วย ผลไม้ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าผลไม้ในภาคตะวันออกเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นการเพิมมูลค่าให้เข้าถึงตลาดที่ดีกว่า และให้ราคาที่ดีกว่ามากที่สุด ,ประมงเพาะเลี้ยง โดยจะเน้นเรื่องสมาร์ทฟาร์ม สร้างอุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องให้เกิดขึ้น
พืชชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการวัตถุดิบ ,พืชสมุนไพร ที่จะนำไปสู่อาหารเม็ดหรือยา เครื่องสำอางก์ ปศุสัตว์ ซึ่งจะเป็นการแปรรูปโคคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่อีอีซีมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพด้านการเกษตรวมอยู่ด้วย โดยเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการชุดใหญ่ ได้มอบหมายให้อนุ กบอ. ไปพิจารณาว่าจะยกระดับการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันโดยมีสำนักงาน กบอ. เป็นผู้ประสานงาน โดยจะทำความชัดเจนเรื่องดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ.ยังได้มีการลงนามบันทึกจ้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท มีโอที จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5G ในพื้นที่อีอีซีเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มก่อสร้างในทันทีและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในอีอีซีได้ โดยมีพื้นที่นำร่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีการเตรียมบุคลากรทางด้านดิจิทัลไว้รองรับจำนวน 1 แสนคน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี
ส่วนในปี 65 จะมีความพร้อมที่จะเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุก ทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ หรือบีโอไอ (BOI) และอีอีซี โดยจะพยายามปิดโครงการหลักภายในปี 63 ซึ่งโครงการสุดท้ายจะเป็นท่าเรือที่แหลมฉบัง โดยจะปิดประมาณเดือนธันวาคม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนว่าประเทศไทยมีความพร้อมจากการลงทุน 6.5 แสนล้านในการเตรียมการเรื่องดังกล่าวไว้รองรับทางด้านสาธารณูปโภค รวมถึงสาธารณูปการที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย
นายนฤตม์ เทิดสตรีศักดิ์ รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวน 313 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 1.09 แสนล้านบาท หรือประมาณ 49% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ โดยการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 6.39 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเทศญี่ปุ่นลงทุนสูงสุดประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 2 เป็นเนเธอร์แลนด์ประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท และจีนเป็นอันดับ 3 ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ,ยานยนต์และชิ้นส่วนประมาณ 1.37 หมื่นล้านบาท และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 7.86 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดีในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Cuve) เองก็เริ่มมีการลงทุนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพประมาณ 5.59 พันล้านบาท และการแพทย์ประมาณ 1.6 พันล้านบาท โดยหลังจากนี้จะมีการเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืออุตสาหกรรมใหม่เข้ามามากขึ้น เช่น 5G เมื่อเกิดขึ้นจะมีการลงทุนตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันบีโอไอส่งเสริมทั้งธุรกิจด้านดิจิทัลที่เป็นอีโคซิสเต็มส์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลกลาง หรือดาต้าเซ็นเตอร์ การให้บริการจัดเก็บข้อมูล หรือคราวน์เซอร์วิซ เป็นต้น