นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ. ได้ดำเนินการร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เพื่อดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากยกระดับ 11 ชุมชนทั่วประเทศให้มีศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยว ผ่านการลงพื้นที่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในท้องที่เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน พร้อมการนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาระบบการทำงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ระดับ 5 ดาว ได้แก่ ชุมชนบ้านหน้าทับ จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินการ จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ที่ได้ผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชซึ่งถือเป็นสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีศักยภาพสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านสร้างสรรค์จนได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ประจำปี 2563
สำหรับผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ คือ รายได้ชุมชนที่เพิ่มขึ้นการพัฒนาทักษะของคนในพื้นที่ ความร่วมมือในระดับบุคคลและชุมชน เกิดการพัฒนาโครงสร้างชุมชนที่เข้มแข็งส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอันจะเป็นทิศทางสำคัญของอุตสาหกรรมไทยเพื่อการแข่งขันกับตลาดสากลในอนาคต และยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของชุมชนในการเป็นสถานที่ฝึกทักษะประสบการณ์การเห็นความสำคัญของท้องถิ่น สร้างค่านิยมในการส่งเสริมวิถีอัตลักษณ์ชุมชน
นายณัฐพล กล่าวต่อไปว่า รูปธรรมของการดำเนินงานที่เกิดขึ้นกับทั้ง 11 ชุมชน คือ รูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับออกแบบขึ้นมาใหม่จากกลุ่มนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้ง11 แห่ง โดยส่วนใหญ่เน้นการอนุรักษ์วิถีดั่งเดิม เช่นวิถีเกษตรอินทรีย์ วิถีประมง วิถีหัตถกรรมท้องถิ่นซึ่งแต่ละชุมชนล้วนมีอยู่แล้วทั้งหมด จึงไม่เกิดความเสี่ยงจากการลงทุนสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังช่วยให้รูปแบบการดำเนินงานของชุมชนเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ดี เตรียมขยายผลการดำเนินงานไปยัง 10 ชุมชน ในปีงบประมาณ 64 เพื่อเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวชุมชนรองรับการเปิดประเทศในอนาคต โดย กสอ. ให้ความสำคัญกับการวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานส่งเสริมชุมชน ได้รับผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวทั้ง11 ชุมชน ประกอบด้วยการประเมินศักยภาพของชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมของชุมชน การชูวัฒนธรรมวิถีชุมชนสินค้าของที่ระลึก และการสนับสนุนของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อการวิเคราะห์เชิงลึกสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมชุมชนให้มีประสิทธิภาพในดำเนินการในปี 2564อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นายทักษิณ หมินหมัน ประธานวิสาหกิจกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ (บ้านหน้าทับ) อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชุมชนบ้านหน้าทับแต่เดิมประกอบอาชีพประมง ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) เนื่องจากขาดรายได้ และจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่ต้องหยุดประกอบอาชีพ จึงมีภาระหนี้สินในชุมชนเป็นจำนวนมากแต่หลังจากการลงพื้นที่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 50% ภาระหนี้สินในชุมชนลดลงและสามารถนำรายได้ไปต่อยอดพัฒนาชุมชนมากยิ่งขึ้น
การลงพื้นที่ของนักศึกษาเกิดขึ้นหลายครั้งอย่างต่อเนื่องตลอดโครงการแต่ละครั้งจะเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ทำให้ได้รับทราบข้อมูลปัญหาและเห็นถึงจุดเด่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิการส่งเสริมกิจกรรมพอกโคลนในท้องทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีคุณสมบัติล้างสารพิษบนใบหน้าและไม่ก่อให้เกิดการละคายเคือง กิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและการทำประมงวิถีดั้งเดิม ซึ่งชาวชุมชนยังคงดำรงชีวิตตามปกติแต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการท่องเที่ยวจึงอยากให้ขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียงและชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศเพื่อสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
“ทริปท่องเที่ยว CIV บ้านหน้าทับ ประกอบด้วย วันเดย์ทริป ( One Day Trip )สัมผัสวิถีประมง ทานอาหารท้องถิ่น ปั่นจักรยานชมชุมชน สนนราคาที่ 1,050 บาทต่อคน และ ทริป 2 วัน 1 คืน เพิ่มบริการที่พักสัมผัสชีวิตพื้นถิ่นชมธรรมชาติผ่านเส้นทางบกและทางน้ำ สนนราคาที่ 1,850 บาทต่อคน”