ผู้สื่อข่าววันนี้(22ธ.ค.)พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเป็นประธานพิธีเปิดทดลองเดินเรือไฟฟ้าลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) แห่งแรก เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน น. ณ ท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ กสท. โทรคมนาคม เขตบางรัก และท่าเรือสะพานพุทธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า รอต้อนรับ
พลเอก ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี. เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเรืออัจฉริยะ Smart Pier แห่งแรก ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ทันสมัย สามารถช่วยลดมลภาวะฝุ่นละออง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ ได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเดินเรือของไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดแผนยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในปี 2573 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้สนองนโยบายดังกล่าว โดยร่วมกับภาคเอกชน ส่งเสริม ผลักดัน ให้มี การยกระดับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีมาตรฐานและปลอดภัย ลดมลพิษทางอากาศ ลดต้นทุนทางด้านพลังงานของประเทศ และมีความพร้อมในการให้บริการฟรีในช่วงการทดลองตั้งแต่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับประชาชน พร้อมกับอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ ที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้พัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของประเทศ ให้สามารถรองรับทั้งการโดยสารที่ปลอดภัย การบริการทันสมัยทั้งระบบจำหน่ายบัตรโดยสารอัจฉริยะและป้ายแจ้งเวลาเดินเรืออัจฉริยะ
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้มีการพัฒนาท่าเรือโดยสาร ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ท่าเรือสะพานพุทธ ถือเป็นท่าเรือที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างสะพานประวัติศาสตร์ทั้งสองสะพาน คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และสะพานพระปกเกล้า อีกทั้งอยู่ใกล้กับไปรษณียาคารที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการออกแบบท่าเรือสะพานพุทธแห่งนี้ ให้มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สอดคล้องกับพื้นที่ เชิงประวัติศาสตร์โดยรอบ พร้อมร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ปรับรูปโฉมภายในให้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย ทันสมัย รองรับการเดินทางท่องเที่ยววิถีใหม่ยุค New Normal พร้อมเป็น Smart Pier แห่งแรกในประเทศไทย อาทิ เครื่องแสกนอุณหภูมิอัตโนมัติ , ป้ายอัจฉริยะ แจ้งเวลาเรือเข้าเทียบท่า , เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ , ระบบตรวจสอบเส้นทางการเดินเรือ และตารางเรือ , ระบบความปลอดภัยและตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละวัน , ระบบไฟส่องสว่างด้วยระบบโซลาร์เซล ตลอดจนมีความเป็นอารยสถาปัตย์ Friendly Design ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับการสนับสนุนการสร้างสุขาสาธารณะ ทั้งห้องสุขาชาย – หญิง และห้องสุขาสำหรับผู้พิการ จากมูลนิธิเอสซีจี (SCG) พร้อมมีแผนพัฒนาเส้นทางการให้บริการจริงจากท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้าถึงท่าเรือสาทร ให้เกิดความเชื่อมโยงกับระบบ รถ - ราง – เรือ อาทิ เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS / MRT และรถโดยสารสาธารณะตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) นำมาซึ่งเป้าหมายเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน
นาวาโท ปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า สำหรับการให้บริการระยะที่ 1 บริษัทฯ จะเริ่มเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2564 เป็นเวลา 6 เดือน จากนั้น จะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และแผนที่จะ เปิดให้บริการเฟส 2 อีก 3 เส้นทาง ภายในเดือนเม.ย. 2564 ประกอบด้วย 1. Urban line เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง เริ่มที่สถานีพระนั่งเกล้า-สาธร 2. Metro line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มที่สถานีพระราม 7 และ 3. City line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสาทร
สำหรับเฟส 3 ภายในเดือนพ.ค. 2564 จะเปิดให้บริการครบสมบูรณ์ทั้ง 3 เส้นทาง โดยจะมีการนำเรือมาให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 27 ลำ สำหรับ เรือไฟฟ้าในโครงการ เป็นเรืออลูมิเนียมชนิด Catamaran ความยาวตลอดลำเรือ 23.97 เมตร กว้าง 7 เมตร ลึก 2.30 เมตร กินน้ำลึกบรรทุก 1.30 เมตร ให้การทรงตัวที่ดี ความเร็วน้อย ประหยัดพลังงาน ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไออน ไร้มลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง เป็นห้องโดยสารปรับอากาศ กว้างขวาง ขึ้น-ลงสะดวกสบาย ทันสมัย และปลอดภัย สามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 250 คน ความเร็วเดินทางขึ้นอยู่กับความเร่งด่วน ในเวลานั้น โดยมีความเร็วสูงสุด 16 น็อต นอกจากนี้ ได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟแบบ DC Fast Charge ระดับ 4-C สามารถชาร์จเร็วภายใน 15 นาที ความจุแบตเตอรี่ Li-Ion 768 kW-hr เวลาสำหรับใช้งานต่อการชาร์จ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเดินเรือ ทั้งนี้ จะเปิดให้บริการเรือไฟฟ้าฟรี 2 เดือน เริ่มตั้งแต่ 23 ธ.ค. 2563 - 14 ก.พ. 2564 โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือวันจันทร์-ศุกร์ ให้บริการฟรีจอดรับส่งผู้โดยสาร บริเวณท่าเรือ 11 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 พระราม 7 เกียกกาย บางโพธิ์ เทเวศ พรานนก ปากคลองตลาด ราชวงศ์ กรมเจ้าท่า แคททาวเวอร์ และสาทร ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ จะให้บริการฟรี เฉพาะท่าเรือ ที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าช้าง วัดอรุณฯ วัดกัลยาณมิตร กรมเจ้าท่า และท่าแคททาวเวอร์ เพื่อมอบของขวัญ ปีใหม่ให้กับประชาชนในปี 2564 นี้