นางสาวกชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 และ N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก โดยระบุว่า ขณะนี้ กทพ.ได้ข้อสรุปของการพัฒนาโครงการดังกล่าว ปรับแผนเป็นการก่อสร้างเฉพาะช่วง N2 แนวเส้นทางจากแยกเกษตรเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก หรือทางพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สาย 9 เป็นอันดับแรก สำหรับขั้นตอนดำเนินงานหาก คจร.มีมติปรับแก้ให้แบ่งการพัฒนาโครงการเฉพาะช่วง N2 ได้ก่อนตามที่ กทพ.นำเสนอ ก็คาดว่าจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางปีหน้า เพื่อเริ่มกระบวนการประกวดราคาจัดหาเอกชนก่อสร้างได้ภายในปี 2564 และเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการภายในปี 2568
“ตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าเราจะแบ่งโครงการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ พัฒนาในส่วนของช่วง N2ไปก่อน เพราะช่วง N1 ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบก่อสร้าง โดยจะมีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต้นปี 2564 เพื่อพิจารณาปรับแก้มติ คจร.ที่ก่อนหน้านี้ให้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมกันทั้งสองช่วง”
อ่านข่าว พลิกแนวใหม่ ม.เกษตรค้าน ‘ด่วนขั้น 3’
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ.ได้เสนอแผนก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือมายังกระทรวงฯ แล้ว ซึ่งรูปแบบจะขอปรับแก้มติ คจร.เดิม ที่มีการอนุมัติให้ประกวดราคาและเริ่มงานก่อสร้างพร้อมกันทั้งสองช่วง คือ ช่วงทดแทน N1 ที่จะพาดผ่าน ม.เกษตรศาสตร์ และ N2 ที่เป็นทางเชื่อมจากแยกเกษตร วิ่งไปตามถนนเกษตร - นวมินทร์ และสิ้นสุดถนนกาญจนาภิเษก โดยแผนก่อสร้างที่มีการปรับใหม่นี้ กทพ.จะขอให้ คจร.พิจารณาอนุมัติเริ่มขั้นตอนประกวดราคาและก่อสร้างเฉพาะช่วง N2 ไปก่อน เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้าง อีกทั้งรูปแบบการก่อสร้างก็มีความชัดเจนแล้ว ขณะที่ช่วงทดแทน N1 ยังติดปัญหารูปแบบก่อสร้าง ที่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบจาก ม.เกษตรศาสตร์ ว่าจะให้ดำเนินการก่อสร้างเป็นโดมครอบอยู่ด้านบนทางยกระดับ หรือสร้างอุโมงค์ทางลอด
ทั้งนี้หาก คจร.อนุมัติให้เริ่มประกวดราคาและก่อสร้างทางด่วนช่วง N2 ได้ กทพ.ก็จะก่อสร้างงานฐานรากของทางด่วนไปพร้อมกับฐานรากของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย - ลำสาลี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กทพ.จะเป็นผู้ประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างฐานรากของทั้งสองโครงการ และเรียกจัดเก็บค่าก่อสร้างจาก รฟม.ในภายหลัง ซึ่งสาเหตุที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เพราะทั้งสองโครงการจะใช้ฐานรากร่วมกันตามแนวก่อสร้างทางด่วน N2
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า แนวเส้นทางช่วง N2 จะมีจุดเริ่มต้นโครงการ ทางขึ้น – ลงแห่งที่ 1 อยู่บริเวณถนนเกษตร – นวมินทร์ เลยทางลอดอุโมงค์เกษตรปัจจุบันมาราว 200 เมตร หรืออยู่ช่วงก่อนถึงตึก RS หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะคร่อมไปตามถนนเกษตร - นวมินทร์ ก่อนจะเป็นทางแยกเชื่อมไปยังทางต่างระดับฉลองรัช และไปสิ้นสุดโครงการเชื่อมเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สาย 9 ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ยังได้รับรายงานด้วยว่า หากไม่สามารถเจรจารูปแบบก่อสร้างช่วง N1 กับ ม.เกษตรให้ได้ข้อยุติ ก็มีความจำเป็นต้องทบทวนรูปแบบอื่นๆ เพื่อนำเสนอให้พิจารณาเพิ่มเติม เพราะเพื่อประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการพัฒนาให้ครบทั้งแนวเส้นทาง แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้เร่งรัดก่อสร้างช่วง N2 ให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ และเริ่มแก้ไขปัญหาการจราจร
“ทางด่วนขั้นที่ 3 นี้ เป็นโครงการสำคัญที่จะเชื่อมต่อการเดินทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยความจำเป็นของโครงการ ตอนนี้ กทพ.จึงอยากผลักดันให้สร้างในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ก่อน แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ก็จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรจากแยกเกษตร เชื่อมเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อย่างสะดวก"