"ส.อ.ท." ขอสถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1%

20 ม.ค. 2564 | 12:05 น.

"ส.อ.ท." วอน ธปท. ส่งสัญญาณไปยังสถาบันการเงินให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1% ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้กู้ทุกประเภท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลงประมาณ 1% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่มีภาระจากการกู้เงินลดต้นทุนทางการเงิน โดยจะมีส่วนช่วยทำให้สภาพคล่องทางการการเงินดีขึ้นตามไปด้วย เพราะเวลานี้ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้  การที่ ส.อ.ท. ร้องขอเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  เพราะมองว่าในปัจจุบันทุกผู้ประกอบการเป็นหนี้สถาบันการเงิน  และต้องรับภาระดอกเบี้ย  แต่ปัจจุบันต้นทุนสถาบันการเงินลดลง เนื่องจากอินเตอร์แบงก์เรทลดต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 1% กว่า  จากเดิมที่จะอยู่ที่ประมาณ 2-3% แต่เวลานี้อยู่ที่ประมาณ 0.5% เท่านั้น ส่วนอินเตอร์แบงก์เรทของสกุลเงินดอลลาร์เหลืออยู่ที่ประมาณ 0.25% ซึ่งหมายความว่าต้นทุนของสถาบันการเงินลดลงไม่ต่ำกว่า 1%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.

“จากภาวะดังกล่าว ส.อ.ท. จึงต้องการขอให้อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำของสถาบันการเงินลดลง 1% ซึ่งมอว่าไม่ได้สร้างความเสียให้กับสถาบันการเงิน แต่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินทั้งระบบดีขึ้น เพราะจะมีผลทำให้ทุกคนที่มีการกู้เงินกู้ได้รับการปรับลดดอกเบี้ยลงโดยปริยาย และจะช่วยให้ลดต้นทุนทางการเงินได้อย่างมหาศาล  โดยมองว่าสถาบันการเงินควรให้ความช่วยเหลือในประเด็นดังกล่าวนี้  หากสถาบันการเงินต้นทุนไม่ได้ลดลง ส.อ.ท. เองก็คงจะไม่ร้องขอ  ขณะที่รัฐบาลก็เข้ามาช่วยเหลือเรื่องความเสี่ยงโดยการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยมากขึ้น  และยังมีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือซอฟต์โลน (Soft Loan) จาก ธปท. เข้ามาช่วยอีก”

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้เสนอแก้ไขพระราชกำหนด พ.ร.ก. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท คือ 1.ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีวงเงินสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ,2.ขยายเวลาให้สถาบันการเงินยื่นกู้ขอวงเงินกู้ได้คราวละ 6 เดือน จนกว่าเงินจะหมด ,3.ขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 30% ของยอดสินเชื่อ และกรณีลูกค้าไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน กู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

,4.สามารถคิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก ,5.ชดเชยความเสียหายไม่เกิน 80%  ของลูกหนี้แต่ละราย และ6.สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 5 ปี  ดังนั้น จึงมีข้อเสนอมาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs เพิ่มเติมประกอบด้วย

1.ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป

2.ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

3.ขอให้มีการปรับจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ

4.ให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม 40%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โควิด-19” เป็นเหตุหน้ากากอนามัย-ถุงมือทางการแพทย์ต้องมี มอก.

เปิดไทม์ไลน์ หญิงป่วยโควิดเสียชีวิต อาชีพขับรถรับ-ส่งแรงงานเมียนมา

เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 59 ราย

ยอดติดเชื้อโควิด 20 ม.ค.64 รายใหม่ 59 ในประเทศ 51 เสียชีวิต 1 ราย

"โควิด-19" ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน