นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการหารือกับ 23 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI) :ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ได้รับความน่าเชื่อถือ เพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทย และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) โดยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการเลือกไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางของการลงทุน
ทั้งนี้ จากการหารือทั้ง 23 บริษัทมีความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเข้าร่วมทุนกับผู้ลงทุนที่สนใจที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนในไทย เพื่อความสะดวกในการดำเนินการ และไม่ต้องกังวลเรื่องการประกอบกิจการในไทย โดยเป็นการใช้ทุกองคาพยพ และทุกภาคส่วนในการดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยปัจจุบันอีอีซีถือว่ามีความพร้อมเกือบทั้งหมดขาดแต่เพียงท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีการพิจารณาอนุมัติในไม่ช้า ก็จะครบในส่วนของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของตัดสินใจของนักลงทุนในอีอีซี
“การเคลื่อนย้ายของทุนมาสู่ภูมิภาคอาเซียนมีความชัดเจนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยเป็นประเทศเดียว แต่ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพ ซึ่งนักลงทุนสนใจในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมการด้านต่างๆที่อีอีซีได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ระดับหนึ่ง ยังเหลือบางประเด็นที่เกี่ยวข้องของการเข้ามาทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสะดวก และสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจอีก 2 ประเด็น”
สำหรับ 2 ประเด็นดังกล่าวนั้น อีอีซีจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ในการเข้าไปรับฟังปัญหา และผลักดันเรื่องดังกล่าวเหล่านี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องแข่งขันได้ เพื่อนำไปสู่การนำมาปฏิบัติได้จริง หากทำได้ไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการลงทุนของนักลงทุนที่สนใจที่จะเคลื่อนย้ายทุนมาลงทุนในภูมิภาคนี้เป็นลำดับต้นๆ
“วันนี้เดินหน้าระดับหนึ่งแล้ว และพบว่าไทยยังเป็นประเทหนึ่งที่นักลงทุนในประเทศ รวมถึงต่างประเทศ และผู้ที่ยังไม่เคยมาลงทุนให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องช่วยกันสนับสนุน โดยอีอีซีมีเป้าหมายที่จะส่งสเริมให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 3 แสนล้านบาทในปี 64 ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในปีนี้ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้ความสำคัญเร่งด่วน”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า แผนดึงดูดการลงทุนในอีอีซีนั้น ปีนี้จะเป็นการปฏิบัติการเชิงรุกในการเร่งการลงทุนทั้งในอีอีซี และในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 อุตสาหกรรมใหม่ และ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการใช้ทุกองคาพยพ และทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ อีอีซีจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นที่เป็นปัญหาจะรับฟัง และจะมีการพบปะนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงคัดเลือกกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย และเดินทางไปหารือ ประเด็นใดที่เป็นอุปสรรคในเชิงปฏิบัติ จะรีบแก้ไขอย่างเต็มที่
สำหรับภาพรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบ ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในรอบปี 2563 (ม.ค.- ธ.ค 2563) ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศเป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดใน อีอีซี
โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนใน อีอีซี สูงสุด มูลค่าการลงทุน 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าการลงทุน 21,831 ล้านบาท ด้านความคืบหน้า โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ คิดเป็น 46%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คนละครึ่ง" รัฐ-เอกชนร่วมสร้างบุคคลากรรับ "อีอีซี" กว่า 25,000 คน
ขยาย ถนน 6 เลน “มีนบุรี-แปดริ้ว” ฉลุย แก้จราจร โยง อีอีซี
แก้ไขด่วน! อีอีซีขาดแรงงานกว่าหมื่นคน