เคลียร์ปมสัมปทานสายสีเขียว บีทีเอสขู่ กทม. ทวงหนี้กว่า 3 หมื่นล้าน

07 ก.พ. 2564 | 09:30 น.

บีทีเอสซี ยื่นหนังสือทวงหนี้กว่า 3 หมื่นล้าน เหตุกทม. เบี้ยว ยื้อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นกระทบหยุดเดินรถในอนาคต เล็งเดินหน้าใช้สิทธิตามกฎหมาย

 

ปมยื้อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ส่งผลให้ กระทรวงมหาดไทยโดย กรุง เทพมหานคร (กทม.) ต้องผ่าทางตัน ประกาศจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร เพดานสูงสุด 158 บาทตลอดสายและเนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงปรับลดราคาลงเหลือ 104 บาท ต่อเที่ยว ขณะการคัดค้านยังมีต่อเนื่องว่ายังเป็นอัตราที่สูงเกินจริง ทั้งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามปมร้อนของสายสีเขียวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อ บีทีเอสซี  มีหนังสือทวงถามภาระหนี้ก้อนใหญ่กับ
กทมอีกระลอก  

รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยว่า บริษัทได้ทวงถามบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (มหาชน) ชำระหนี้การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง -สมุทรปราการ ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 8,899,338,642.45 บาท ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ตามที่บริษัทเรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้บริษัทฯมีความมั่นใจได้เลยว่า บริษัทฯจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตจากกรุงเทพธนาคมหรือกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเจ้าของกรุงเทพธนาคม ทั้งจำนวนหรือทยอยชำระภายใต้เงื่อนไขและเวลาที่กำหนด

 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด คือหนี้ค่าจ้างค้างชำระถึงวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602,927,987.84 บาท และหนี้ค่าซื้อระบบการดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768,979,836.13 บาท ภายใน 60 วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญาของบริษัทฯ เอากับ กรุงเทพธนาคม และ กทม.ต่อไป

รายงานข่าวจากบีทีเอสซี ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทเชื่อว่า ทั้งกรุงเทพธนาคมและกทม.เข้าใจในหลักการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ให้กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการ นับตั้งแต่การปิดให้บริการ การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบัน ได้อาศัยการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน อยู่ที่ 15 บาท สำหรับการใช้บริการ ตลอดส่วนต่อขยายที่ 1 และไม่เรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน สำหรับการใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับจากค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนั้นและต้นทุนค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ทำให้เกิดผลขาดทุนแก่ กรุงเทพธนาคมและกทม.เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่กับบริษัทได้ ส่งผลให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงขั้นไม่สามารถให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อีกต่อไปในระยะเวลาไม่นาน  เพราะบริษัทคงไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปอีกได้

 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยินยอมตกลงตามหลักการของร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ก็เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะหยุดการที่ กรุงเทพธนาคม และ กทม. จะสร้างหนี้กับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบันต่อไปโดยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทฯ และแม้ว่าภายใต้ร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น บริษัทฯ จะไม่ได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนทันที แต่หากผลประกอบการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสาย


สีเขียวต่อไปในระยะยาวดีขึ้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการและเป็นผู้ให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเองก็จะมีโอกาสได้หนี้ที่ค้างชำระนี้คืนได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการในการแก้ไขหนี้ที่แม้จะมีความเสี่ยงกับบริษัทฯ บ้าง แต่ก็ทำให้บริษัทฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก บีทีเอสขู่ทวงหนี้กทม.

ด้าน นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563  โดยในช่วงทดลองให้บริการขณะที่ยังไม่ได้เดินรถเต็มรูปแบบ ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นเวลาเกือบ 3 ปี  ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

 

  ขณะเดียวกันเมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 กรุงเทพมหานครจึงปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท ส่งผลให้กรุงเทพมหานครจะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 - 2572 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรุ่งนี้ บีทีเอส เปิดสถานีเซนต์หลุยส์ วันแรก

ล้มประมูลสายสีส้ม สู้ไม่สุดซอย ถอยดีกว่า

บีทีเอส เปิด 'สถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุยส์' 8 ก.พ.นี้ สเตชั่นใหม่สาธร

 

บีทีเอส ร่วมสนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 

ล้มสายสีส้ม จบที่ครม.-ศาล ยึดเกณฑ์เทคนิค+ราคา บีทีเอสจ่อฟ้องอีกรอบ