โดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ได้รับความสนใจมากสุดมีจำนวนคำขอ 453 โครงการ เงินลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท (สัดส่วน 43% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน 3 คลัสเตอร์หลักของ EEC คือ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์
ต่างชาติยังเชื่อมั่นไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับสูง มีจำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศในไทยโดยบีโอไอเมื่อปลายปี 2563 ที่ปรากฎว่า 96% มีแผนขยายการลงทุนหรือรักษาระดับการลงทุนในไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิดก็ตาม
“นักลงทุนต่างชาติมองว่า ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีจุดแข็งหลายด้านเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางภูมิภาค มีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรมีคุณภาพ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ มีฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ครบวงจร มีนิคมและเขตอุตสาหกรรมจำนวนมากพร้อมให้เลือกลงทุน และมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ ประกอบกับขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤติิโควิดในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของภูมิภาค”
คาดลงทุนจริง 4 แสนล.
ทั้งนี้การลงทุนในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะเป็นอีกเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกโดยปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการลงทุนในไทยที่สำคัญคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลก รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะช่วยขยายตลาดของประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยให้กว้างขึ้นด้วย นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลต่อการกระจายฐานลงทุนของบริษัทข้ามชาติเพื่อบริหาร Supply Chain เพื่อลดความเสี่ยง จะส่งผลให้การย้ายฐานการผลิตยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีสงครามการค้าเมื่อปี 2561 จนถึงสิ้นปี 2563 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังประเทศ ไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จำนวนกว่า 200 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนชุดใหม่ของบีโอไอ ที่จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับโครงการที่ลงทุนจริงได้เกิน 1,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี หลังออกบัตรส่งเสริม และการเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะใน EEC ทั้งรถไฟความเร็วสูง การขยายท่าเรือและสนามบิน การพัฒนาเมืองการบิน เมืองอัจฉริยะ EECi, EECd รวมทั้งโครงข่าย 5G จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน และจะเป็นแรงหนุนให้การลงทุนฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
“จากสถิติการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้จะเกิดการลงทุนจริงมากที่สุด ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 2563 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติและจัดตั้งบริษัทเรียบ ร้อยแล้ว มาดำเนินการออกบัตรส่งเสริมกว่า 1,300 โครงการ เงินลงทุนรวม 430,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 20% นับเป็นสัญญาณที่ดี ประกอบกับมีโครงการที่ได้ออกบัตรส่งเสริมไปแล้วในช่วงปี 2561-2562 อีกจำนวน 2,754 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 1-3 ปี จึงคาดว่าในปี 2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนจริงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่า 4 แสนล้านบาท”
ชู 5 แผนเด็ดดูดลงทุน
สำหรับกลยุทธ์ดึงการลงทุนเชิงรุกในปี 2564 บีโอไอจะแปลงวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาส โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะนำไปสู่การปรับ โครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรม เดิมที่เป็นจุดแข็งของไทย ใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1. ต่อยอดอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งครอบคลุมหลายสาขา ทั้งเกษตร อาหาร พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การแพทย์ และท่องเที่ยว
2. สร้างฐานอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ เช่น กลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ พลังงานสะอาด และดิจิทัล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส และเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมโดยรวม นอกจากนี้ รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยังได้ตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อดึงนักลงทุนรายสำคัญ (Anchor investors) ให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยให้ได้อย่างน้อย 2-3 ราย ภายในปีนี้ด้วย
3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับธุรกิจ โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย หรือนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการผลิต บริการ และบริหารคลังสินค้า 4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกได้มายื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อใช้ไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (กิจการ IHQ / IBC) รวมกว่า 300 โครงการ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้ตรงจุด
และ 5. ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมบุคลากร โดยบีโอไอร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวง อว. และสำนักงาน EEC ได้ออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทยแบบครบวงจร ให้สิทธิประโยชน์ทั้งฝั่งสถาบันการศึกษา/อบรม และบริษัทเอกชนที่ส่งพนักงานเข้าอบรมในหลักสูตรเป้าหมาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,655 หน้า 9 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ 2564