นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ขณะนี้ บริษัทฯ จำเป็นต้องยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคคีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่บริษัทฯ ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่าได้กระทำความผิด รฟม. โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ของ รฟม. มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ ดังนี้ การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม. จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ซึ่งโดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า "การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ และการออกเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันบีทีเอสมีสิทธิยื่นฟ้องเพิ่ม 3 คดี ประกอบด้วย 1.กรณีที่รฟม.ยกเลิกการประกวดราคา 2.กรณีรฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน เพื่อเตรียมเปิดประมูลโครงการฯ รอบ 2 3.กรณีที่รฟม.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯ ทางบีทีเอสมีสิทธิยื่นฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน หลังศาลปกครองจำหน่ายคดีของรฟม.
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ.2562 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็ดี การยกเลิกประกาศ เชิญชวนฯ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ รวมถึง การเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างเอกสาร มิอาจกระทำได้เช่นที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการฯ และความล่าช้าที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการกระทำของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ร่วมประชุมด้วยได้ทักท้วงแล้วก็ตาม
"เราไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมา และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง"
พ.ต.อ.สุชาติ ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เริ่มมีความผิดปกติของการดำเนินการในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการรอยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปรากฎว่า มีบริษัทเอกชนที่ร่วมซื้อซองมีหนังสือไปถึง ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูล โดยอ้างเหตุผล ถึงหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงสูง ของการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมและวิธีการก่อสร้างขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชนในด้านต่างๆ (ข้อความจาก หนังสือ ITD ส่งถึง สคร.) ต่อมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งล้มล้างสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทำมาหลายปี ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว ชี้ให้เห็นเจตนา และความคิดของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ทำให้ บริษัทฯ ต้องทำหนังสือร้องเรียนไปถึง ท่านผู้มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ได้แก่
- นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
- ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายฯ
- ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของโครงการ
- คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย
- นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านเมื่อทราบแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขให้ถูกต้อง