รฟม.แจงยิบ ปมรื้อเกณฑ์ทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม

11 มี.ค. 2564 | 12:15 น.

รฟม.ยันประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ได้เอื้อเอกชนเพียงรายเดียว อ้างล้มประมูลหวั่นกระทบก่อสร้างโครงการฯ ล่าช้า เชื่อคณะกรรมการมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกวดราคาได้ตามกฎหมาย

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ว่า โครงการฯ เป็นการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ) ที่มีเจตนารมย์ในการประกาศใช้เพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติที่แน่นอนไม่ให้อำนาจการพิจารณาเป็นของบุคคลเดียวหรือหน่วยงานเดียว ดังนี้ 1.การออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอรฟม. ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบข้อชี้แจงต่อข้อสอบถามของ ผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) รวมถึงเห็นชอบการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากรูปแบบเดิมที่พิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุนและผลตอบแทน แยกจากกัน โดยให้พิจารณาซองการลงทุนและผลตอบแทนเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคเท่านั้น เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา พร้อมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไป 45 วัน ซึ่งการปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น

2.การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะเอกชนทุกรายต้องแข่งขันบนเกณฑ์การประเมินเดียวกัน และไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด เนื่องจาก รฟม. ได้แจ้งให้ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกราย ทราบถึงการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเอกชนผู้ที่ยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด โดยยังกำหนดไว้เช่นเดิมว่า หากเอกชนรายใดไม่มีผลงานขุดเจาะอุโมงค์ ก็สามารถใช้ผลงานของบัญชีผู้รับจ้าง (Contractor List) ได้ รวมถึงยังได้มีการขยายระยะเวลาจัดทำข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกรายมีเวลาในการจัดเตรียมข้อเสนอมากขึ้นด้วยการออก RFP Addendum ปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ในครั้งนั้น เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 35 และมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ และเป็นไปตามเอกสาร RFP เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17.1 ซึ่งได้ระบุว่า ก่อนถึงกำหนดวันยื่นซองเอกสารข้อเสนอ รฟม. อาจมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (ที่ระบุในข้อ 15.)” ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ) เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (9) โดยการออกเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม มีเหตุผลในการปรับเปลี่ยนเนื่องจาก จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เพื่อความสำเร็จของโครงการและประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (8)

สำหรับการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ โดยประเมินกรอบระยะเวลาดำเนินการ ผลกระทบ รวมถึงข้อดี-ข้อเสีย อย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นโดยสรุปว่า จนถึงปัจจุบันระยะเวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าและข้อสรุปทางคดี ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานออกไป ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนฯ จนแล้วเสร็จที่ชัดเจนได้ ประกอบกับซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย มีอายุ 270 วัน นับจากวันยื่นซองข้อเสนอ หากยังคงรอข้อสรุปทางด้านคดีก่อนแล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป อาจส่งผลให้ซองเอกสารข้อเสนอของเอกชน 2 ราย ดังกล่าว สิ้นอายุลงก่อนที่กระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ จะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ ในภายหลัง จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

 

ขณะที่กรณียกเลิกการคัดเลือกและเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 – 8 เดือน กรอบระยะเวลาดำเนินการมีความชัดเจน จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว โดยมอบให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ประกอบกับข้อสงวนสิทธิ์ในประกาศเชิญชวนฯ ข้อ 12.1 และเอกสาร RFP ข้อ 35.1 และสอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (9) จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อเตรียมการสำหรับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ สืบเนื่องจากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ข้างต้น รฟม. จึงได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนขึ้นใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอนใน พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน) โดยเริ่มตั้งแต่มาตรา 35 ซึ่งระบุให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) และนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการจัดทำเอกสาร ทั้งนี้ วิธีการและขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนดังกล่าว รฟม. ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 โดยเนื้อหาที่เปิดรับฟังหลักๆ ประกอบด้วย สาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน สาระสำคัญของร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน

 

ขณะเดียวกันรฟม. ได้ออกประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา นอกจากนี้ รฟม. ได้ปรับปรุงถ้อยคำในส่วนของข้อสงวนสิทธิ์ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (9)การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นเพียงการรวบรวมความเห็นของเอกชนเพื่อนำมาใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ ตามที่ รฟม. เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ เท่านั้น เพื่อที่ รฟม. จะนำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ต่อไป

สำหรับประเด็นที่มีข้อถกเถียงว่า รฟม. ได้กระทำการละเมิดคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 หรือไม่นั้น คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นเพียงแต่สั่งให้ทุเลาหลักเกณฑ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้อำนาจตามกฎหมายยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ แล้ว รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เนื่องจาก เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ต่อมา รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอดังกล่าวหมดสิ้นไป และศาลยังมีคำสั่งให้คำสั่งทุเลาคำบังคับของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

 

ทั้งนี้การเปิดรับฟังรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุน เป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในขณะที่การพิจารณาเห็นชอบ เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังนั้นการที่ผู้ใดจะกระทำการใดๆ ที่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกฯ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิด เป็นการกระทำที่เข้าข่ายต้องระวางโทษ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)