นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานประจำปี 2563 (มกราคม-ธันวาคม 2563) ว่า มีจำนวน 54 ครั้ง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.6% ที่มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น จำนวน 64 ครั้ง โดยตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านความปลอดภัยโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ได้มีการกำกับดูแล และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในการให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยและระมัดระวังในการประกอบกิจการ พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
“ได้กำชับให้ กรอ. แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้เฝ้าระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนกิจกรรมภายในโรงงานที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีความระมัดระวังปัญหาที่ตามมาคือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้”
ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุภายในโรงงาน การเกิดอัคคีภัยยังคงครองแชมป์อันดับ 1 มีจำนวน 42 ครั้ง รองลงมา คือ สารเคมีรั่วไหล 1 ครั้ง การระเบิด 2 ครั้ง อุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักร 3 ครั้ง และจากสาเหตุอื่นๆ อีก 6 ครั้ง
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ปัญหาการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการโรงงาน ยังคงเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสาเหตุในด้านอื่นๆ เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักร และ/หรือขาดการจัดทำแผนการตรวจสอบบำรุงดูแลรักษาเครื่องจักร
รวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอัคคีภัย กรอ. ได้แจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เพิ่มความระมัดระวังด้านความปลอดภัยตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้ผู้ประกอบการโรงงานปฏิบัติตามขั้นตอนเช็คความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัยในโรงงาน
โดย กรอ. ได้จัดทำแบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย (Self Checklist) และร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัดตรวจสอบประเมินให้คำแนะนำแก่โรงงานที่มีความเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดของตนเอง ซึ่งได้จัดทำข้อปฏิบัติการป้องกันอัคคีภัยช่วงหน้าร้อน และข้อควรระวังในการใช้ระบบความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และคู่มือเอกสารความปลอดภัยต่างๆ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ.(www.diw.go.th) พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายทอด ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :