ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ นายเกส ปีเตอร์ ราเดอ (H.E. Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์ประจำประเทศไทย โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยหลังจากเอ็มโอยูว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นความร่วมมือในสาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะขยายเวลาออกไปโดยอัตโนมัติหรือต่อเนื่องอีกคราวละ 5 ปี ในสาขาความร่วมมือที่สองประเทศเห็นพ้องร่วมกัน
อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการจัดการอุทกภัยและการระบายน้ำในเขตเมืองที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำมาตั้งแต่ในอดีต และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นประเทศที่มีระบบการบริการจัดการน้ำที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่ง
“ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดน้ำทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเนเธอร์แลนด์ที่ไทยมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ทั้งระดับผู้นำประเทศ และระดับหน่วยงานปฏิบัติ”
อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านน้ำระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานกับฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาช่วงน้ำท่วมปี 2554 การจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง) การพัฒนาระบบพยากรณ์เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง เป็นต้น”
ดังนั้น การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือด้านน้ำระหว่างสองประเทศเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านน้ำของสองประเทศ โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านน้ำที่เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและอำนวยการความสะดวกต่อไป ที่สำคัญยังเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมมือกันในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของสองประเทศในอนาคตอีกด้วย