รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ เชื่อมฝั่งตะวันออกและตกของไทย(อีสต์-เวสต์ คอริดอร์) เพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ และนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อให้ครบทั้ง 3 เส้นทาง ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการเส้นทาง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ไปแล้ว เมื่อสร้างครบ 3 เส้นทางจะเชื่อมโยงการขนส่งจากไทยไปยัง เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชาได้ เบื้องต้นรัฐบาลจะลงทุนเองทั้งหมด ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.52 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคู่ที่จำเป็นของประเทศในการพัฒนาเชื่อมต่อการขนส่งจากภาคตะวันออกมายังตะวันตก โดยจะมีการเวนคืนที่ดิน 100% เพื่อการก่อสร้าง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเส้นทางแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256 กิโลเมตร มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์(อีไออาร์อาร์) 17.2% วงเงินลงทุน 9.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคือ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท และค่าก่อสร้าง 8.1- 8.3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดบอร์ด รฟท. อนุมัติให้จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย.65 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอโครงการให้ ครม.อนุมัติปลายปี 65 และเปิดประมูลปี 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการราวปี 71-72
“ทางคู่สายนี้สำคัญมาก เพราะจะวิ่งเชื่อมไปยังด่านแม่สอดด้วย ซึ่งเป็นประตูการค้าชายแดนสำคัญของไทย เบื้องต้นจะสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในไทย คือสูงจากระดับ 50 เมตร และยังมีโครงสร้างอุโมงค์ ระยะทาง 31กิโลเมตรซึ่งเป็นอุโมงค์ยาวที่ยาวที่สุดในไทยด้วย เพราะต้องสร้างตัดผ่านภูเขาจากตากมายังแม่สอด”
สำหรับเส้นทางจะแบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มี 24 สถานี ย่านขนส่งสินค้า (CY) 3 แห่ง ระยะทาง 188 กม. และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี ย่านขนส่งสินค้า (CY) 1 แห่ง ระยะทาง 68.8 กม. มีช่วงที่เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้น 203.70 กม. และโครงสร้างอุโมงค์ 31.2 กม. และโครงสร้างสะพาน 21.90 กม. สภาพภูมิประเทศของโครงการส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนช่วงที่ตัดเข้าอำเภอแม่สอดจะเป็นภูเขาสลับกับหุบเขา
ทั้งนี้เส้นทาง นครสวรรค์-บ้านไผ่ ระยะทาง 304 กิโลเมตร มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์(อีไออาร์อาร์) 10.68 % วงเงินลงทุน 5.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 14,947 ไร่ วงเงิน 4,784 บาท และ อีก 51,216 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอโครงการให้บอร์ด รฟท. อนุมัติให้มีการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มศึกษารายละเอียดการออกแบบในปี 65 ประกวดราคาปี 67 ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 72 โดยมี สถานีหยุดรถไฟ 15 แห่ง วิ่งผ่าน 5 จังหวัด คือนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี ชัยภูมิและ ขอนแก่น