ไม่จบ ต่อขยายสายสีเหลือง รฟม.ชงคมนาคม ขอความเห็นเจรจาเพิ่ม หวั่นเสียค่าโง่

22 มี.ค. 2564 | 02:21 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2564 | 09:26 น.

รฟม.เล็งขอความเห็นคมนาคม เคลียร์ผลเจรจาส่วนต่อขยายสายสีเหลือง หลังเปิดผลศีกษากระทบรายได้ BEM ราว 2.7 พันล้าน หวั่นซ้ำรอยจ่ายค่าโง่เอกชน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.รับทราบผลการศึกษากรณีที่รฟม.ศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทาน

สำหรับผลการศึกษาพบว่าหากมีการเปิดให้บริการโครงการฯ ภายในปีแรกจะกระทบรายได้กับ BEM คิดเป็น 988 ล้านบาท และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คิดเป็น 2,700 ล้านบาท ขณะเดียวที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.ทำหนังสือขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุปประกอบการพิจารณา หากในกรณีที่ EBM ไม่ยอมรับเงื่อนไขการเจรจาชดเชยรายได้ให้กับ BEM หลังจากนั้นให้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการรฟม.ในครั้งถัดไป

"เรามองว่าตามแผนแม่บทในด้านการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าไม่ควรมีแนวเส้นทางทับซ้อนหรือแนวเส้นทางใกล้เคียงกันเกินไป เพราะอาจจะไม่เหมาะสมเหมือนกับกรณีข้อพิพาททางแข่งขัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต กับทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขณะเดียวกันหากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รฟม.ไม่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องดี เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ถ้ามีการก่อสร้างแล้วพบว่า รฟม.ได้รับผลกระทบกระทบเอง อาจกลายเป็นคู่ความกับคู่สัญญาก็คงต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสียค่าโง่ในภายหลัง ทั้งนี้ถ้าเราไม่ก่อสร้างโครงการฯ ก็มองว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยที่สมบูรณ์อยู่แล้ว"