ไม่จบ "ศักดิ์สยาม" สั่งตั้งคณะทำงาน เคลียร์แผนฟื้นฟู ขสมก. หวั่นขาดทุนแตะ 4 พันล้าน

01 เม.ย. 2564 | 10:27 น.

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้าสั่งคั้งคณะทำงานหาข้อสรุปแผนฟื้นฟูขสมก. เร่งปิดดีล พ.ค.นี้ ห่วงแผนล่าช้าทำขาดทุน 4,000 ล้านบาท

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก ครั้งที่ 1/2564 ว่า สำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขณะนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานฯ ในการพิจารณาเพื่อปรับแผนแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานชุดนี้มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานการประชุมและนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นเลขานุการคณะทำงานดังกล่าว รวมทั้งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายในพ.ค.นี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติในกรณีที่หน่วยงานต่างๆยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูขสมก.ในบางประเด็น หลังจากนั้นขบ.และขสมก.จะดำเนินการจัดทำแผนลงทุนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาและเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หลังจากนั้นเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

 

"ขณะเดียวกันที่ประชุมมีข้อเสนอให้ดูสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันแผรดังกล่าวจะนำรถร่วมเอกชนเข้ามาให้บริการด้วย โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเจรจาในการจ้างเช่าวิ่งตามระยะทางร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้. รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นอัตราเดียว (Single Price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนนั้น หากประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งใช้ค่าโดยสารไม่ถึง 30 บาท/วัน จะเรียกเก็บค่าโดยสารตามเดิมของรถโดยสารสาธารณะแต่ละเส้นทางต้องพิจารณาด้วย"

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนการขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) นั้น ที่ผ่านมาขสมก.ได้เสนอของบประมาณเพื่อขออุดหนุน จำนวน 9,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันทางกระทรวงคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าควรปรับปรุงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ ในบางประเด็นให้มีความชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะการขอเงินอุดหนุนนั้นสามารถดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นราคาที่ถูกจำกัดเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลให้ขาดทุนจึงจะสามารถขอเงินอุดหนุนได้ แต่ปัจจุบันการเสนอขอเงิน PSO ไม่ใช่ราคาที่ถูกจำกัดเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายแผนปฏิรูปขสมก.ในระยะ 7 ปี เนื่องจากขสมก.มีงบประมาณที่ต้องให้ค่าตอบแทนแก่พนักงาน ซึ่งมีอัตราการจ้างที่สูงกว่าปกติ แต่หลังจากนั้นภายใน 7 ปี พนักงานขสมก.จะเกษียณอายุราชการ ทำให้ขสมก.ต้องจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อทดแทน

 

"เรามองว่าหากดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูฯช้า จะทำให้ขสมก.ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยปัจจุบันขสมก.ขาดทุน 300 ล้านบาทต่อเดือน หรือขาดทุน 4,000 ล้านบาทต่อปี"