ศึกต่อขยายเหลือง-สีส้ม ยังระอุรับสงกรานต์

11 เม.ย. 2564 | 19:00 น.

เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ในช่วงฤดูร้อนของไทยนั้นยังพบว่ามีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐถึง 2 โครงการที่ยังเป็นกระแสร้อนอย่างต่อเนื่องเริ่มที่โครงการแรกเป็นโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง  ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมานายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ให้สัมภาษณ์ว่า บีทีเอสมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายต่อการเดินทางโดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายฯ ทั้งหมด 100% พร้อมแบ่งรายได้เพิ่มในกรณีที่ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเมื่อถึงจุดที่กำหนดส่วนแบ่งให้รฟม.เพิ่ม

อนัญญา จั่นมาลี  : รายงาน

ขณะเดียวกันด้านบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กลับเล็งเห็นว่าหากก่อสร่างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง  ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เมื่อถึงกำหนดเปิดบริการจะกระทบต่อรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาวิ่งเต้นในฐานะคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย โดยทำหนังสือถึงบีทีเอสเพื่อเจรจาขอชดเชยรายได้ให้แก่ BEM ที่จะได้รับผลกระทบด้านรายได้ในอนาคต แต่ทางบีทีเอสส่งหนังสือตอบกลับยืนยันขอไม่ชดเชยในกรณีชดเชยรายได้ให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เนื่องจากไม่ใช่คู่สัญญาของบีทีเอส

ถึงแม้ว่าคณะกรรมการ(บอร์ด)สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการดังกล่าวของรฟม. โดยให้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้จากผลการศึกษาความเหมาะสมฯ พบว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและการให้บริการรถไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ในการรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักได้มากถึง 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ล่าสุดนายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.รับทราบผลการศึกษากรณีที่รฟม.ศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทาน  

ศึกต่อขยายเหลือง-สีส้ม ยังระอุรับสงกรานต์

สำหรับผลการศึกษาพบว่าหากมีการเปิดให้บริการโครงการฯ ภายในปีแรกจะกระทบรายได้กับ BEM คิดเป็น 988 ล้านบาท และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คิดเป็น 2,700 ล้านบาท ขณะเดียวที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.ทำหนังสือขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุปประกอบการพิจารณา หากในกรณีที่ EBM ไม่ยอมรับเงื่อนไขการเจรจาชดเชยรายได้ให้กับ BEM หลังจากนั้นให้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการรฟม.ในครั้งถัดไป

“เรามองว่าตามแผนแม่บทในด้านการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าไม่ควรมีแนวเส้นทางทับซ้อนหรือแนวเส้นทางใกล้เคียงกันเกินไป เพราะอาจจะไม่เหมาะสมเหมือนกับกรณีข้อพิพาททางแข่งขัน ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต กับทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขณะเดียวกันหากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รฟม.ไม่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องดี เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ถ้ามีการก่อสร้างแล้วพบว่า รฟม.ได้รับผลกระทบกระทบเอง อาจกลายเป็นคู่ความกับคู่สัญญาก็คงต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสียค่าโง่ในภายหลัง ทั้งนี้ถ้าเราไม่ก่อสร้างโครงการฯ ก็มองว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยที่สมบูรณ์อยู่แล้ว”

ฟากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากเป็นประเด็นที่มีการฟ้องร้องระหว่างบีทีเอสและรฟม.ในชั้นศาลปกครอง เนื่องจากรฟม.ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลหลังจากรับซองข้อเสนอของเอกชนที่เข้ายื่นการประมูลทั้ง 2 ราย และยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะอยู่ระหว่างการรอคำตัดสินจากศาลปกครอง แต่รฟม.กลับไม่รอคำตัดสินจากศาลปกครองและเดินหน้าเปิดประมูลโครงการฯรอบ 2 โดยรฟม.ให้เหตุผลว่าการยกเลิกประกวดราคา (ประมูล) นั้นเพื่อต้องการเร่งรัดให้โครงการฯ สามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมาย  

ทั้งนี้รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการฯเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดจึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา

ล่าสุดรฟม.ได้ปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนผ่านเว็บไซต์ของ รฟม. ระหว่างวันที่ 2 – 16 มี.ค.2564 เรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นรฟม.จะนำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) เสนอต่อคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ ร่วมทุน 2562 พิจารณา คาดว่าจะเปิดขายเอกสารการประกวดราคาภายในเดือนเมษายนนี้ และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564  คาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้างและลงนามสัญญาภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564

ทั้งนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไรต้องติดตาม!!!

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564