การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เร่งก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงการเดินทาง และความเจริญเข้าพื้นที่ อีกทั้งสนับสนุนการขนส่งสินค้าประหยัดต้นทุนเชื่อมโยงจังหวัดภูมิภาคตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ มีบางเส้นทางอาจล่าช้า ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างขณะบางเส้นทางอาจเร็วกว่าแผน
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง วงเงิน 111,149 ล้านบาท ระยะทาง 993 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 1 วงเงิน 9,825 ล้านบาท ระยะทาง 97 กิโลเมตร (กม.) โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเบิกจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินในส่วนที่เหลือ ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติให้ขยายอายุสัญญาออกไปอีก 224 วัน ซึ่งออกหนังสือรับรองของงานทั้งหมดแล้วเสร็จ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ส่วนช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 2 วงเงิน 407 ล้านบาท ระยะทาง 9 กิโลเมตร (กม.) โดยบริษัท ไรท์ทันเน็ลลิ่งฯ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน ความก้าวหน้า 100% ผลการเบิกจ่าย 96.88%
2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น โดยกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 24,326 ล้านบาท ระยะทาง 187 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือนความก้าวหน้า 100% ผลเบิกจ่าย 99.98%
3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 (บ้านกลับ-โคกกระเทียม) วงเงิน 10,050 ล้านบาท ระยะทาง 32 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา 48 เดือน ความก้าวหน้า 48.99% เร็วกว่าแผน 20.01% ผลเบิกจ่าย 38.58% ส่วนช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) วงเงิน 8,649 ล้านบาท ระยะทาง 116 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา 36 เดือน ความก้าวหน้า 65.05% ช้ากว่าแผน 0.26% ผลการเบิกจ่าย 51.06% ที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติขยายสัญญา 17 เดือน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย เนื่องจากมีการขยายสัญญาดังกล่าว (SA)
4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 (มาบกะเบา-คลองขนานจิตร) วงเงิน 7,560 ล้านบาท ระยะทาง 58 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน ความก้าวหน้า 85.64% ช้ากว่าแผน 2.24% ผลเบิกจ่าย 78.90% ส่วนช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 (คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ) วงเงิน 7,060 ล้านบาท ระยะทาง 69 กิโลเมตร (กม.) หลังจากเสนอคณะกรรมการ รฟท.พิจารณาเห็นชอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแลดล้อม (คชก.) พิจารณาเพื่ออนุมัติดำเนินโครงการฯ และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 (อุโมงค์รถไฟ) วงเงิน 9,290 ล้านบาท ระยะทาง 5 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจเวนคืนที่ดินและดำเนินการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 42 เดือน ความก้าวหน้า 66% ช้ากว่าแผน 11% ผลเบิกจ่าย 50%
5.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม-หนองปลาไหล) วงเงิน 8,198 ล้านบาท ระยะทาง 93 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ความก้าวหน้า 83% เร็วกว่าแผน 2% ผลเบิกจ่าย 64% ที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติขยายสัญญา 20 เดือน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย เนื่องจากมีการขยายสัญญาดังกล่าว (SA) และปรับแผนงานก่อสร้างเพิ่มเติม ส่วนช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) วงเงิน 7,520 ล้านบาท ระยะทาง 76 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ความก้าวหน้า 83% เร็วกว่าแผน 2% ผลเบิกจ่าย 64% ที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติขยายสัญญา 20 เดือน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย เนื่องจากมีการขยายสัญญาดังกล่าว (SA) และปรับแผนงานก่อสร้างเพิ่มเติมเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1
6.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807 ล้านบาท ระยะทาง 84 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมามีการปรับแผนงานการก่อสร้างครั้งที่ 3 โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา 30 เดือน ความก้าวหน้า 82% ช้ากว่าแผน 13% ผลเบิกจ่าย 69% ส่วนช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) วงเงิน 6,465 ล้านบาท ระยะทาง 88 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติขยายสัญญา 15 เดือน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา 33 เดือน ความก้าวหน้า 75% ผลเบิกจ่าย 66% และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) วงเงิน 6,465 ล้านบาท ระยะทาง 88 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมาคณะกรรมการรฟท.ได้อนุมัติขยายสัญญา 15 เดือน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และมีการปรับแผนงานใหม่ครั้งที่ 2 โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลา 36 เดือน ความก้าวหน้า 67% ผลเบิกจ่าย 63%
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้างานระบบอาณัติสัญญาณของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 12,923 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.งานระบบอาณัติสัญญาณสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2,988 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 39 เดือน เริ่มงาน 24 มกราคม 2563
2.งานระบบอาณัติสัญญาณสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 2,549 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 45 เดือน เริ่มงาน 24 มกราคม 2563 และ3.งานระบบอาณัติสัญญาณสายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร วงเงิน 7,384 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 36 เดือน เริ่มงาน 27 มกราคม 2563
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564