ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับฟังคำฟ้องของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัดหรือบีทีเอสซี ในคดีเปลี่ยนเกณฑ์การประกวดราคา ต่อผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทั้ง 7 รายกรณียกเลิกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาทั้งนี้ หากปัญหาการฟ้องร้องมีระยะเวลาต้องลากยาวออกไป จากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันเกรงว่าจะมีผลกระทบต้นทุนค่าก่อสร้างตามมา
แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมา มองว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มคดีอยู่ในชั้นศาลทุกฝ่ายต้องให้คดียุติ และเร่งรัดให้ได้ตัวเอกชนโดยเร็ว ในทางกลับกัน หากกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลานานยืดเยื้อออกไปประเมินว่า ต้นทุนค่าก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็กเส้นที่เวลานี้พุ่ง กว่า 40% ในระยาวไม่แน่ชัดราคาจะเป็นอย่างไร ทั้งคนงานก่อสร้างแรงงานต่างด้าวค่อนข้างหายากแต่ในที่สุดเอกชนเป็นผู้แบกรับภาระเพราะต้องเสนอราคาผลตอบแทน โดยยึดผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก เหมือนกรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังมีปัญหาเรื่องค่าโดยสาร
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุภาพรวมต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ จะปรับสูงจาก เหล็กปรับขึ้นต่อเนื่องเกือบ 50% ฉุดให้วัสดุหลายรายการที่ใช้องค์ประกอบของโลหะระบบไฟฟ้าปรับตัวตามเพราะเป็นกลไกตลาดโลกยากต่อการควบคุม ระยะยาวไม่สามารถประเมินได้ว่าผลกระทบจากวัศดุก่อสร้างจะปรับตัวลดลงเมื่อใด
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จากการรายงานข่าวรฟม.ยืนยันว่า ยังเดินหน้าโครงการ แต่ในณะนี้ยังไม่ได้ประกาศขายเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) เนื่องจากติดปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่มีแผนกำหนดขายซองเอกสารการประกวดราคาภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยให้เอกชนทำข้อเสนอภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 จากนั้นจะประเมินข้อเสนอคาดได้ตัวผู้รับจ้าง ในเดือนกรกฎาคม 2564 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการเจรจาโครงการฯ ภายในเดือนสิงหาคม 2564
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ที่ผ่านมาคณะกรรมการมาตรา 36 มีการเปลี่ยน แปลงผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย และผู้แทนจากหน่วยงานใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ควรพิจารณาตัดสินใหม่กลับมาใช้เกณฑ์เดิมในการประกวดราคา โดยใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค 100 คะแนน และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 100 คะแนน
หากรฟม.ยึดใช้เกณฑ์ใหม่ในการเปิดประมูลสายสีส้ม โดยคิดสัดส่วนข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน จะกระทบต่อโครงการหรือไม่นั้น เชื่อว่า ต้องเกิดการฟ้องร้องและทำให้เสียเวลามากขึ้น ปัจจุบันทางรฟม.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของเอกชนเพื่อจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) รอบใหม่ ในช่วงเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งมีความล่าช้าและไม่สามารถเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ เนื่องจากติดปัญหาการฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาประเมินว่าโครงการจะลากยาวออกไป
โดยปลายเดือนกรกฎาคมนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี ยืนยันว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯนัดไต่สวน ในคดี คณะกรรมการตามมาตรา36และรฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ทีโออาร์สายสีส้ม และไม่ทราบแน่ชัดว่าคดีจะยุติลงเมื่อใด เมื่อถามว่าหากโครงการล่าช้าออกไป จะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสายสีส้มปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ นายสุรพงษ์มองว่า ต้นทุนจะปรับขึ้นได้แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาในขณะนั้นด้วยว่า ปัญหาเหล็กจะเป็นอย่างไรเพราะสามารถปรับตัวขึ้น-ลงได้
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564