กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงสายใหม่หมายเลข 3646 สาย อ.อรัญประเทศ -ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ.หนองเอี่ยน-สตึงบท) ตั้งแต่ กม. 0+000 – กม.25+211 ระยะทาง 25.211 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 33 – ทางหลวงหมายเลข 3366 – สะพานข้ามคลองพรมโหด – บ้านหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปยัง บ้านสตึงบท ต.ปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา
เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากการค้าบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวร บ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (บริเวณตลาดโรงเกลือ) ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้จุดผ่านแดนมีความหนาแน่น เกิดการติดขัดของการจราจรบริเวณด่านพรมแดนจากรถที่มาขนส่งสินค้า รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือ ดังนั้นเพื่อขยายพื้นที่การค้าการลงทุนชายแดนบริเวณบ้านหนองเอี่ยน จึงมีได้ก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เพื่อให้รองรับการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวโดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.0+000 – กม.10+500 ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และตอนที่ 2 ระหว่าง กม.10+500 – กม.25+211 ระยะทาง 14.7 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ผิวทางคอนกรีตกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เกาะกลางเป็นแบบกดเป็นร่อง (DEPRESSED MEDIAN)
พร้อมสะพานข้ามทางรถไฟเป็นสะพานคู่ที่มีช่องจราจรรวม 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ช่องว่างระหว่างสะพาน 9 เมตร ทางกลับรถใต้สะพาน 2 ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.50 เมตร และ 2.50 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณ 2,070 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 70% คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดปัญหาการติดขัดของการจราจรจากรถขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดน บ.คลองลึก รวมถึงสนับสนุนศักยภาพจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่โดยการขยายพื้นที่การค้าการลงทุนบริเวณชายแดนในการรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศตามนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเป็นส่วนในการส่งเสริมนโยบายและแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง