นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมสถานประกอบการมุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ จังหวัดสมุทรปราการ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามนโยบายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามนโยบายรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนแผนปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ได้นำร่องการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมากในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ จากหนังสัตว์ สิ่งทอ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
สำหรับการดำเนินโครงการฯ กระทรวงฯได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้กับสถานประกอบการเรื่องของคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยจะทำการสำรวจข้อมูล และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการฯ ตั้งเป้ามีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วม จำนวน 10 แห่ง ที่ต้องได้รับประกาศนียบัตรคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (รางวัลฉลากคาร์บอน) อาทิ
บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท สยามสตีลซินดิเกต จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ไทยยัง เคมิคอล จำกัด ,บริษัท ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีจีอาร์ กรุ๊ป สยาม จำกัด เป็นต้น ซึ่งนอกจากได้รับประกาศนียบัตรแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดของเสียในกระบวนการผลิตได้อีกด้วย
"รัฐบาลให้ความสำคัญกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด (พลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและหันมาใช้พลังงานอื่นๆ แทน รวมทั้งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล) ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการในการปรับตัวรับกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint) ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง จนถึงขั้นตอนการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์"
นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดอาเซียนและเวทีการค้าโลก การพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นการปรับจากสังคมที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ สังคมที่มีการพึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยพึ่งพาภูมิปัญญาท้องถิ่นและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อทดแทนเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับโครงสร้างทางสังคม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค และแนวทางการดำรงชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :