รายงานข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 72,920 ล้านบาท เป็นโครงการที่รัฐได้ศึกษาตั้งแต่ปี 2503 และได้มีการทบทวนโครงการอีกหลายครั้งเพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมถึงผลกระทบต่างๆให้รองรับการเชื่อมต่อชายแดน จังหวัดเชียงราย รวมทั้งศูนย์ขนถ่ายสินค้าเชียงของ
ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการเวนคืนที่ดินและเปิดประมูลภายในปี 2564 และมีกำหนดก่อสร้าง 5 ปี เปิดให้บริการปี 2571โดยรฟท.ได้ประกาศขายเอกสารการประกวดราคาก่อสร้างโครงการฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.-17 พ.ค.2564 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และกำหนดกรอบเวลาในการประกวดราคา โดยให้ผู้ประสงค์จัดทำเอกสารข้อเสนอเพื่อยื่นเสนอในวันที่ 18 พ.ค.2564 โดยยื่นข้อเสนอด้านเทคนิควันที่ 19 พ.ค.2564 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 24 มิ.ย.-8 ก.ค.2564 ประกาศผู้ชนะเสนอราคาวันที่ 9 ก.ค.2564 และลงนามสัญญาวันที่ 2 ส.ค.2564 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท
รายงานข่าวจากสร.รฟท. กล่าวต่อว่า จากการติดตามการประมูลโครงการดังกล่าวทั้ง 3 สัญญา พบว่ามีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสและน่าสังเกตมากว่าแต่ละสัญญามีผู้ซื้อซองจำนวนมาก แต่ผู้ยื่นเสนอราคาแต่ละสัญญามีเพียง 2 รายเท่านั้น โดยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล จำนวน 17 ราย โดยผลเสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 18 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาต่ำสุด 26,900 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 16 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาต่ำสุด 19,390 ล้านบาท
ทั้งนี้การดำเนินการโครงการดังกล่าวที่ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใสมีการล็อคสเปค โดยปกติไม่น่าจะเป็นไปได้เมื่อเปรียบเทียบการประมูลโครงการก่อสร้างฯสายอื่นๆ ที่มีการเสนอราคาเพียง 2 ราย จากผู้ที่สนใจซื้อเอกสารซองประมูลทั้งหมด 16-18 ราย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการประมูลจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848 ล้านบาท ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ซึ่งประกอบไปด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก วงเงิน 27,127 ล้านบาท ราคากลาง 27,123 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 วงเงิน 28,335 ล้านบาท ราคากลาง 28,333 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง