กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนเปิดให้บริการสนามบินเบตงจังหวัดยะลา ท่าอากาศยานแห่งใหม่ลำดับที่29 ตามสโลแกน"สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง" เส้นทางบินดอนเมือง-เบตง เบตง-ดอนเมือง ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ขั้นตอนการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินที่ยังล่าช้าส่งผลให้ กระทรวงคมนาคมต้องเลื่อนการให้บริการออกไป
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติเบตง หรือสนามบินเบตง ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อประเมินความพร้อมแล้ว เบื้องต้นมีบางประเด็นในการขอใบรับรองฯ ที่ต้องดำเนินการปรับปรุง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ หากทย.ดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงแล้วเสร็จ ทางกพท.จะดำเนินการพิจารณาในการออกใบรับรองฯ ต่อไป
ขณะเดียวกันมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูความพร้อมของการเปิดให้บริการสนามบินเบตง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ของจังหวัดยะลา พยายามเร่งผลักดันเต็มที่ แต่ปัจจุบันติดปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ยังไม่พร้อมเปิดเส้นทางทำการบินและการประกันที่นั่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ภารกิจของสนามบินเบตงในปัจจุบัน ถือเป็นสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินทางทหารและเที่ยวบินส่วนบุคคลได้
“ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีสายการบินที่พร้อมเปิดทำการบินในเส้นทางสนามบินเบตง แต่เราก็พยายามเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการสนามบินฯ อยู่แล้ว สำหรับการเปิดให้บริการสนามบินในเชิงพาณิชย์คงต้องรอดูความชัดเจนของสายการบินต่างๆว่ามีความพร้อมในการเปิดเส้นทางทำการบินมากน้อยแค่ไหนบ้าง ขณะเดียวกันได้รับรายงานแบบไม่เป็นทางการโดยบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอทางเลือกในเส้นทางทำการบินในลักษณะการลงจอดที่สนามบินเบตงชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่เส้นทางทำการบินโดยตรง”
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เคยยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนพิจารณาเปิดเส้นทางบินดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง มายังกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผลักดันและพิจารณาเปิดเส้นทางบิน ที่ให้ความสนใจ สำหรับข้อเสนอของบริษัท สายการบินนกแอร์ เช่น การขอให้การรับประกันผู้โดยสาร บัตรโดยสาร และที่นั่ง ในการประกันที่ขั้นต่ำ (Block Seat) ของสายการบินนกแอร์ โดยในระยะ 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการบิน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 หรือ 65 ที่นั่ง และระยะถัดไปร้อยละ 60 หรือ 52 ที่นั่ง ซึ่งหอการค้าไทยจังหวัดยะลา อำเภอเบตง สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง ศอ.บต. และ กอ.รมน.ยินดีให้การสนับสนุน และมอบให้สายการบินนกแอร์จัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับราคาตั๋วโดยสาร จำนวนเที่ยวบินให้แก่หน่วยงานดังกล่าว เบื้องต้นจะทำการบินไป-กลับ 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมทั้งการขอรับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากหน่วยงานต่างๆ เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบัน ทย. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือสายการบินอยู่แล้ว เช่น พื้นที่เช่าสำนักงาน เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร พื้นที่ลานจอด ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าเช่าวิทยุสื่อสาร ค่า Air to Ground ค่า Over Fly
สำหรับสนามบินเบตง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 920 ไร่ กลางหุบเขาในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ห่างจากตัวเมืองราว 12 กิโลเมตร (กม.) โดยใช้วงเงินก่อสร้างราว 1,900 ล้านบาท โดยระยะแรกสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ราว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดเล็ก เช่นเครื่องบินใบพัด ATR ประมาณ70-80 ที่นั่ง ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารที่พักโดยสาร งานทางวิ่ง (รันเวย์) ทางขับ (แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องสนามบิน และระบบรถไฟฟ้าสนามบิน เครื่องเอกซเรย์ ระบบรักษาความปลอดภัยและการติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้วเสร็จ 100% โดยอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300,000 คนต่อปี ทั้งนี้ในระยะต่อไปมีแผนจะพัฒนาเพิ่มความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) เป็น 2,100 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่
ปีที่41 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3684 วันที่3-5มิถุนายน 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง