thansettakij
บอร์ดสบพ.สั่งเบรก  ‘ศูนย์ฝึกอู่ตะเภา’   2.7 พันล้าน เซ่นโควิด 

บอร์ดสบพ.สั่งเบรก  ‘ศูนย์ฝึกอู่ตะเภา’   2.7 พันล้าน เซ่นโควิด 

23 มิ.ย. 2564 | 03:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2564 | 03:40 น.

บอร์ดสบพ.สั่งชะลอสร้างศูนย์ฝึกอบรมอู่ตะเภา 2.7 พันล้านบาท หลังโควิดระบาดหนัก  ด้านสภาพัฒน์ท้วงติงรูปแบบลงทุนโครงการฯ ขนาดใหญ่เกินไป เตรียมศึกษารอบใหม่  หวังสนับสนุนพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) มีเป้าหมายเร่งรัดพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินเพื่อรองรับการพัฒนาท่าอากาศยานนนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะเปิดให้บริการภายในปี2568 แต่ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งเนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช. (สภาพัฒน์) ได้มีข้อท้วงติงบางประการถึงความเหมาะสม

 


 นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินเพื่อรองรับการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 2,715 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 1,815 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอน จำนวน 448 ล้านบาท งบดำเนินการ จำนวน 450 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือได้จัดสรรพื้นที่รองรับบุคลากรด้านการบินของสบพ. จำนวน 100 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ รอบใหม่  เนื่องจากสภาพัฒน์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีรูปแบบการลงทุนใหญ่เกินไป ควรปรับรูปแบบการลงทุนให้เล็กลง วงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่มีนัยสำคัญ โดยให้สบพ.กลับมาทบทวนโครงการฯ แต่ปัจจุบันติดปัญหาการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการสบพ. (บอร์ด) มีมติให้ชะลอการดำเนินโครงการฯ  แม้ว่าปัจจุบันติดการระบาดโควิด-19 หากสบพ.ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ของโครงการฯ แล้วเสร็จจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2568  และตั้งเป้าเร่งดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ ภายในปี 2570  

 


 “ที่ผ่านมาสบพ.มีเป้าหมายเร่งก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมอู่ตะเภาฯ ตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ขณะเดียวกันสบพ.ได้ดำเนินการรองรับบุคลากรด้านการบินไว้บางส่วนเพื่อรองรับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รวมทั้งรองรับการผลิตชิ้นส่วนของอากาศยาน ทั้งนี้สบพ.จะมีหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านการบินโดยมุ่งเน้นหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน เบื้องต้นประเมินว่าภายใน 1 ชั้นเรียนสามารถผลิตบุคลากรช่างซ่อมอากาศยาน จำนวน 28 คน หากสบพ.สามารถจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯ แล้วเสร็จจะเปิดหลักสูตรดังกล่าวเป็น 2 ชั้นเรียนและเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ”

 

บอร์ดสบพ.สั่งเบรก  ‘ศูนย์ฝึกอู่ตะเภา’   2.7 พันล้าน เซ่นโควิด 
 ทั้งนี้การบริหารจัดการพื้นที่ของศูนย์ฝึกอบรมอู่ตะเภาฯ ประกอบด้วย สิ่งปลูกสร้าง  การวางผังอาคาร ระบบสาธารณูปโภคต้องยึดตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอื่นๆของประเทศไทยตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายว่าด้วยการผลิตพลังงานควบคุม ตลอดจนยึดตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เช่น ความสูงของอาคารต้องไม่เกิน 45 เมตร เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ภายใน Airside ของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 

 


 สำหรับรูปแบบโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินฯ ประกอบด้วย 1.อาคารเรียนช่างอากาศยาน โรงจอดอากาศยาน พื้นที่ 32,000 ตร.ม. 2.ลานจอดอากาศยาน พื้นที่ 16,300 ตารางเมตร (ตร.ม.) อาคารสาธารณูปโภค 2,000 ตร.ม. อาคารบริหารงานและโรงอาหาร 13,000 ตร.ม. ลานฝึกซ่อมอากาศยานชนิดมีหลังคา 1,000 ตร.ม. 

 


 อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2565 สบพ.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 159 ล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุน 35 ล้านบาท ใช้สร้างห้องฝึกปฏิบัติการในอาคารหลังใหม่สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต 3 ห้อง และโต๊ะฝึกปฏิบัติของกองวิชาช่าง 2 รายการ  และงบดำเนินการ 124 ล้านบาท เช่น ค่าเช่าที่ราชพัสดุ เงินเดือนครู และค่าวัสดุฝึกบางส่วน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 ถือเป็นปีแรกที่ภาครัฐจัดสรรเงินลงทุนให้เพียง 70% จากเดิมที่ภาครัฐเคยจัดสรรงบลงทุนถึง 100% ทำให้สบพ.ต้องนำงบประมาณส่วนหนึ่งที่มีอยู่มาใช้ดำเนินการสมทบเข้าไปอีก 30% โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2565 สบพ.จะมีรายได้ลดลงกว่า 150 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ผู้สนใจเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีของศูนย์ฝึกการบินหัวหินลดลง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างรายได้หลัก ให้สบพ.โดยหลักสูตรนี้มีค่าใช้จ่ายเล่าเรียนราว 2.3 ล้านบาทต่อคน 

 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง