สนข.ผุดสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดิน 8 หมื่นล้าน แก้รถติดบางนา

26 มิ.ย. 2564 | 03:49 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2564 | 04:37 น.

สนข.เดินหน้าศึกษาสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ดิน หวังแก้ปัญหารถติดบางนา จ่อชงคมนาคมไฟเขียวภายในเดือนมิ.ย.นี้ คาดเสนอคจร.เห็นชอบภายในเดือน ก.ค.64 เล็งส่งการบ้านกทพ.ศึกษารายละเอียดโครงการฯ ด้านคมนาคม เผยเล็งสร้างถนน-รถไฟฟ้ารางคู่สายบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการจราจรบนถนนในกรุงเทพฯ มักจะพบว่ามีปัญหาบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะถนนแถวบางนาที่มีความหนาแน่นบนท้องถนน ล่าสุด สนข.-MLIT ผุดโมเดลสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินบริเวณถนนบางนา หากสามารถดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามแผนจะช่วยให้การสัญจรบนถนนบริเวณดังกล่าวคล่องตัวและสะดวกมากยิ่งขึ้น 

 

 

นายปัญญาชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินบริเวณสี่แยกบางนา ขณะนี้กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น (MLIT) ได้เสนอผลการศึกษาโครงการฯ ต่อสนข.แล้ว เบื้องต้นจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณแยกสรรพาวุธ โดยจะใช้งบประมาณราว 80,000 ล้านบาท โดยสนข.จะสรุปผลการศึกษาดังกล่าวเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนมิถุนายนนี้ และเสนอต่อคณะกรรมการ จัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม 2564 หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นของต่อไป

 

 

“หากครม.เห็นชอบแล้ว ทางสนข.จะมอบหมายให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ออกแบบศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ (Detail Design) รวมทั้งศึกษารูปแบบการลงทุนและการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย” 

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสี่แยกบางนาในระยะยาว ตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลว่าได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)จัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดได้ร่วมประชุมกับผู้แทนจากกรมทางหลวง(ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และกองบัญชาการตำรวจนครบาล 

 

 

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดิน จากถนนนราธิวาส-สำโรง ระยะทางรวม 8.7 กิโลเมตร ซึ่งส่วนหนึ่งจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ต.บางกระเจ้า และขึ้นสู่ระดับพื้นที่ดินที่สำโรง โดยภายในเดือนมิ.ย. นี้ กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น (MLIT)ซึ่งเป็นคณะทำงานวิชาการร่วมของ สนข.จะนำเสนอผลการศึกษารายละเอียดและรูปแบบโครงการฉบับสมบูรณ์ให้ สนข.พิจารณา สำหรับโครงการดังกล่าวจะมอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินการโครงการเพราะเป็นระบบทางด่วนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง ที่จะไปเชื่อมต่อกับทางด่วนสายเดิม

 

 

ทั้งนี้รูปแบบลงทุนที่เหมาะสมคือการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เนื่องจากใช้เงินลงทุนมาก โดยขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างปรับวงเงินลงทุนใหม่โดยคำนวณต้นทุนค่าก่อสร้าง และวัสดุในไทย ซึ่งจะถูกกว่าประมาณการลงทุนเดิมของญี่ปุ่นที่คิดจากต้นทุนของญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีมูลค่าลงทุนสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท ส่วนความเหมาะสมของจุดปลายอุโมงค์ฝั่งสำโรงนั้น ล่าสุดญี่ปุ่นนำเสนอให้ปรับมาอยู่บริเวณแยกสรรพาวุธแทน บริเวณหน้าไบเทค บางนา เพื่อลดปัญหาการจราจร จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า หากมีการสร้างทางด่วนใต้ดินแล้วเสร็จ และดำเนินการเก็บค่าผ่านทางในปี 25670 จะทำให้ความเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 28.93 กม./ชม. เป็น 31.62 กม./ชม. ซึ่งคิดเป็นค่าความแตกต่างในทางที่ดีขึ้น 2.69 กม./ชม. หรือคิดเป็น 9.30% เนื่องจากอุโมงค์สามารถช่วยรองรับปริมาณการจราจรได้มากขึ้น

 

 

2.ก่อสร้างสะพานกลับรถคอนกรีตเกือกม้า ,สร้างทางยกระดับบริเวณสี่แยกบางนา และการเชื่อมต่อถนนและทางเชื่อมทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เพื่อแยกรถออกจากถนนพื้นราบลดความแออัดรถตรงสี่แยกบางนา,การติดตั้งป้ายจราจรอัจฉริยะ และการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพื่อใช้ติดตามสภาพการจรจา โดยกรมทางหลวง (ทล.)จะเป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบและขออนุญาต 

 

 

3.ก่อสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โดย กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อลดบริเวณรถยนต์บนถนน โดยในส่วนของรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ กทม.อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และจัดทำผลกระทบส่งแวดล้อมคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี สามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2571

 

 

และ4. ก่อสร้างขยายขนาดความกว้างของช่องทางบนถนนสรรพวุธ เพื่อรองรับกับขนาดของรถยนต์ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันและอนาคตโดยมุ่งเน้นรถยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับรถบรรทุกที่เข้ามาใช้งานจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก โดยส่วนนี้เป็นข้อเสนอจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)