"ค่าไฟ"ราคาเดิมถึงสิ้นปี "กกพ." ตรึงค่าเอฟทีบรรเทาผลกระทบโควิด-19

09 ก.ค. 2564 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 11:33 น.

กกพ. มีมติตรึงค่าเอฟทีประจำงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 64 ที่ -15.32 สตางค์ หนุนรัฐบาล ลดค่าครองชีพประชาชนไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากเชื้อเพลิงขาขึ้น และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วย ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามแนวทางการพิจารณาที่จะเกลี่ยค่าเอฟทีให้คงที่ตลอดปี 2564 นี้
ทั้งนี้ ภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19)รอบใหม่ที่ยังคงรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง  การตรึงค่าเอฟทีจึงเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจ และไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ใช้ไฟฟ้าจากค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 
นายคมกฤช กล่าวต่อไปอีกว่สา กกพ.พิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 66.3 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และแนวโน้มการอ่อนตัวของค่าเงินบาทมาอยู่ในระดับ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2564
ซึ่งมีผลโดยตรงต่อค่าเอฟทีในช่วงปลายปี หากพิจารณาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะราคาพลังงานขาขึ้น ทำให้ค่าเอฟทีใน
ปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นการบริหารค่าเอฟทีในปี 2565 จะเป็นไปในทิศทางเพื่อสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ มีความมั่นคง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ในการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 เท่ากับประมาณ 64,510 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน พ.ค. – ส.ค. 2564) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,885 ล้านหน่วย หรือลดลง 4.97% 
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 53.90% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 20.13% และค่าเชื้อเพลิงลิกไนต์ของ กฟผ. 9.45% ถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.43% และอื่นๆ อีก 6.90%
3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ ปรับตัวลดลงและคงที่ ดังที่แสดงในตาราง

\"ค่าไฟ\"ราคาเดิมถึงสิ้นปี \"กกพ.\" ตรึงค่าเอฟทีบรรเทาผลกระทบโควิด-19

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (วันที่ 1 – 31 พฤษภาคม 2564) เท่ากับ 31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐอ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบและอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่ประมาณการไว้ กกพ. จะยังคงสามารถใช้เงินบริหารที่เก็บไว้จำนวน 4,129 ล้านบาท ไปช่วยรักษาเสถียรภาพค่าเอฟทีในช่วงปลายปี 2564 ได้
"สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 9 – 19 กรกฎาคม 2564 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป